กระทรวงสาธารณสุขพบแม่สุนัขที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก  ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า เร่งติดตามค้นหาประชาชนที่นำลูกสุนัข จำนวน 8 ตัว ไปเลี้ยงให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด่วนที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 2 ราย ที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.สงขลา

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ว่า พบแม่สุนัขอายุ 2 ปี ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทราบผลตรวจเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สัมผัสสุนัขดังกล่าวทั้งแม่และลูก ให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด่วนที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้สัมผัสไปแล้ว 40 ราย ทีมปศุสัตว์ร่วมกับทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ติดตามนำลูกสุนัข 8 ตัว กลับมาเพื่อดูอาการผิดปกติ 10 วันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขเลี้ยงและสุนัขจรจัดในหมู่บ้าน  

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า จากรายงานของสำนักระบาดในปี 2557มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 2 ราย ที่จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดสงขลา ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และมีผู้ถูกสุนัขกัดและไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละประมาณ 5 แสนคน

  ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกรายและมีรายงานทุกปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล สัตว์นำโรคที่พบบ่อยในไทย คือ สุนัขและ แมว  ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ 7 วัน บางรายอาจมีอาการหลังติดเชื้อระหว่าง 1-6 เดือน โดยมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการที่พบบ่อยๆ คือ คันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด ซึ่งแผลอาจหายสนิทไปแล้วก็ได้ ต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสง มีน้ำลายไหล เกร็ง กลัวน้ำ เพ้อคลั่ง ชัก และเป็นอัมพาต เสียชีวิตในที่สุด

นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน เมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป และฉีดซ้ำทุกปี ส่วนในคนหากถูกสุนัขบ้ากัดหรือถูกสุนัขจรจัดกัดขอให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันทุกราย จนครบตามที่แพทย์แนะนำ

สำหรับวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนควรลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้าย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย ได้แก่ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ  หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3177-78 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422  

           …………………………..         30 พฤษภาคม 2557

 



   
   


View 15    31/05/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ