กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจพบประชาชนไทยเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจากอาการ “คุชชิ่ง ซินโดรม” เพราะได้รับสารสเตียรอยด์ ที่แฝงมาในยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน ส่วนใหญ่มักใช้รักษาโรคเรื้อรัง ปวดเมื่อย ระยะการใช้ยามีตั้งแต่ 1 วันถึง 600 เดือน จนเกิดอาการที่เรียกว่า คุชชิ่ง ซินโดรม เร่งออกมาตรการคุมเข้ม ให้ทุกจังหวัดตรวจสอบเฝ้าระวัง ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนถึงขั้นเป็นยาสำเร็จรูปจำหน่าย พร้อมให้อสม. ช่วยสอดส่องและแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะรถเร่ที่วิ่งขายยาไปตามหมู่บ้าน นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาการใช้สาร สเตียรอยด์ ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาความชุกของปัญหาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้สารที่มีสเตียรอยด์ปะปน โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยได้สำรวจผู้ป่วยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เข้ารับการรักษาในแผนกอายุรกรรม ของโรงพยาบาล 10 แห่ง ที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของอย. ระหว่างมีนาคม-มิถุนายน 2547 รวม 8,876 ราย พบว่าผู้ป่วย 1,985 ราย มีประวัติหรืออาการแสดงที่บ่งชี้ว่าน่าจะเคยใช้สารที่มีสเตียรอยด์ปะปนมาก่อน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 62 หรือ 1,258 ราย ซื้อยามาใช้เองถึง 1,534 ครั้ง โดยยาที่นิยมใช้มากที่สุดได้แก่ ยาชุด 404 ครั้ง รองลงมาเป็นยาหม้อ 361 ครั้ง และยาลูกกลอน 334 ครั้ง สำหรับปริมาณที่ใช้โดยเฉลี่ย ยาชุดใช้วันละ 4 ชุด ยาหม้อกินวันละ 2 แก้ว ส่วนยาลูกกลอนกินวันละ 3 เม็ด ระยะเวลาใช้ยามีตั้งแต่ 1 วันจนถึง 600 เดือน แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จะใช้ยาเพียงชั่วคราว โดยร้อยละ 39 ใช้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อีกร้อยละ 29 ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร้อยละ 14 ใช้รักษาอาการปวดข้อ ส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้าน ร้อยละ 39 รองลงมาจากคนในครอบครัว ร้อยละ 17 สถานที่ซื้อยาส่วนใหญ่เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน รองลงมาเป็นร้านขายของชำ และร้านขายยาแผนโบราณ โดยพบภาคใต้ใช้ยาดังกล่าวสูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกและภาคเหนือ ทั้งนี้อาการข้างเคียงจากการใช้สารสเตียรอยด์ ที่สำคัญได้แก่ ใบหน้ากลม มีไขมันพอกที่ต้นคอด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา หรือที่เรียกว่า คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing’s Syndrome) ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของการได้สารสเตียรอยด์มากเกินขนาด พบในการศึกษาครั้งนี้ 48 ราย รองลงมาคืออาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด บางรายความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน โดยที่ไม่น่าจะเป็น ซึ่งผู้ที่มีอาการแสดงของคุชชิ่ง ซินโดรมแล้ว จะมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตสูงถึง 12 เท่า เสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกผุ 23 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดงของคุชชิ่ง ซินโดรม นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ กระเพาะอาหารเป็นแผล กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลงจนติดเชื้อได้ง่าย ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นได้ นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการรักษาตัวของคนไทยพบว่า เมื่อเจ็บป่วยมักจะรักษาด้วยตนเองเป็นอันดับแรก จึงมีโอกาสที่จะได้รับสารสเตียรอยด์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวตามมาได้ การใช้ยาสเตียรอยด์จึงต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการออกกฎหมายให้ยาสเตียรอยด์เป็นยาควบคุมพิเศษ ขายได้เฉพาะร้านขายยาที่มีเภสัชกรดูแลตลอดเวลา และต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น แต่ยังคงพบปัญหาการใช้สารสเตียรอยด์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์โดยตลอด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ได้สั่งการสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวัง ตรวจสอบการจำหน่ายยาในพื้นที่อย่างเข้มงวด และมอบหมายให้ อย. ประชุมชี้แจงขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านขายยา โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้เข้มงวดในเรื่องนี้ เพื่อดูแลให้มีการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างเหมาะสม และขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ 800,000 คน ช่วยสอดส่อง เฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการจำหน่ายยาที่อาจผสม สเตียรอยด์ ในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยเฉพาะรถเร่ต่างๆ รวมทั้งแหล่งผลิตยาแผนโบราณด้วย ด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้วางมาตรการในแก้ไขปัญหาทั้งระยะเร่งด่วนและระยะ 2 ปี โดยระยะเร่งด่วนจะประชุมชี้แจง กำชับข้อกฎหมายและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ แก่ผู้ประกอบการร้านขายยาและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ และให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ยา ออกตรวจเฝ้าระวังการจำหน่ายยาสเตียรอยด์ชนิดเม็ด ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดภายในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับมาตรการระยะ 2 ปี มีดังนี้ 1.ลดการลักลอบ รั่วไหลของวัตถุดิบและยาสำเร็จรูปออกจากระบบ โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการผลิตและการกระจายยา มีการสุ่มตรวจสอบ เฝ้าระวัง ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ จนถึงการจำหน่ายยาสำเร็จรูป รวมทั้งเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าวัตถุดิบผิดกฎหมาย 2.จำกัดจำนวนแหล่งกระจายและควบคุมกำกับอย่างเข้มข้น โดยให้จำหน่ายได้เฉพาะในร้านยาที่ผ่านการรับรองคุณภาพ จำกัดปริมาณการขายให้สถานพยาบาลเอกชน และจำกัดให้มียาสเตียรอยด์เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ ที่มีแพทย์และเภสัชกรให้บริการเท่านั้น 3.ลดความต้องการใช้ยาของประชาชน โดยรณรงค์ให้เกิดความตระหนักและสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค ทำให้ยาสเตียรอยด์มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน และพัฒนาชุดตรวจทดสอบอย่างง่าย สามารถใช้การในภาคสนามได้ทันที 4.ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดตามมา โดยจัดทำคู่มือสังเกตอาการและดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการใช้และหยุดยา สเตียรอยด์กะทันหัน เฝ้าระวังการนำยากลุ่มอื่นมาใช้ทดแทนยาสเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งมีการวิจัยเพื่อประเมินผลมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ หากประชาชนมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยาสเตียรอยด์ สามารถร้องเรียนหรือสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร. 0-2590-7354-5 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ในวันและเวลาราชการ นายแพทย์ศิริวัฒน์กล่าว *************************************** 1 กรกฎาคม 2550


   
   


View 7    01/07/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ