กระทรวงสาธารณสุขไทยเสนอเวทีโลก ร่วมสะกัดกั้นการขายบุหรี่ข้ามแดนและการโฆษณาผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งทั่วโลกต้องร่วมมือแข็งขัน เพราะหาแหล่งกำเนิดยาก และมักพุ่งเป้าไปยังกลุ่มเยาวชนยุคไซเบอร์ มีผลสำรวจพบว่าเยาวชนมะกันที่สูบบุหรี่ 1 ใน 3 เคยเห็นโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต
เที่ยงวันนี้ (2 กรกฎาคม 2550) ที่ห้องประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย พร้อมด้วยเอกอัครราชทูต จูอัน มาร์ทาบิท ประธานการประชุม (Ambassador Juan Martabit, President of the Convenience of the Parties) ,นายแพทย์เฮค นิคอกเชียน หัวหน้าฝ่ายเลขานุการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (Dr. Haik Nikogsian, Head of the WHO FCTC Secretariat) และนายแพทย์ดักลาส เบทท์เชอร์ รักษาการผู้อำนวยการด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก (Dr. Douglas Bettcher, Director a.l., Tobacco Free Initiative, WHO) แถลงข่าวความคืบหน้าการประชุมการจัดทำข้อกฎหมายใหม่เพื่อใช้ควบคุมการบริโภคยาสูบโลก สร้างโลกให้ไร้ควันบุหรี่ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบโลกมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2550
นายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามกฎหมายบุหรี่โลกฉบับนี้ซึ่งมี 38 มาตรา กฎหมายควบคุมบุหรี่ไทย 2 ฉบับคือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 มีบทรองรับและครอบคลุมเกือบทุกมาตรา ส่วนใหญ่ไทยเริ่มดำเนินการควบคุมบุหรี่มาก่อนที่จะลงสัตยาบันกับองค์การอนามัยโลก เช่นการกำหนดสถานที่สาธารณะต่างๆ ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ การควบคุมการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กเช่นห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี การห้ามโฆษณาบุหรี่ทุกรูปแบบทางสื่อต่างๆ ในปี 2535 การพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่บนซองบุหรี่ซึ่งได้จัดทำเป็นข้อความคำเตือน ในปี 2535 และแก้ไขปรับปรุงเป็น 6 ภาพคำเตือนตั่งแต่ปี 2547 และเป็น 9 ภาพในปี 2549 นอกจากนี้ยังห้ามนำเข้าบุหรี่ไร้ควันในประเทศไทยมากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนการห้าโฆษณา ณ จุดขายได้เริ่มในปี 2548 ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่ทำได้ กระนั้นก็ตามยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องก้าวเดินต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไทยจะพิจารณา 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน ด้านหนึ่งคือการเสริมมาตรการควบคุมบุหรี่ให้ที่ประชุมพิจารณา และอีกด้านหนึ่งคือการประยุกต์การปรับยุทธศาสตร์ของไทยเองให้สอดคล้องกับกฎหมายบุหรี่โลก ซึ่งมีจำนวน 9 มาตราที่จะต้องทำ อาทิ การผลักดันให้องค์กรส่วนท้องถิ่น วิชาชีพอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมบุหรี่ให้มากขึ้น การปรับเพดานภาษีบุหรี่ และการให้ความช่วยเหลือผู้ติดบุหรี่
ทางด้านนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ในการร่วมประชุมกับประเทศภาคีครั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอที่ประชุมเรื่องการควบคุมการโฆษณาบุหรี่ข้ามแดน และการโฆษณาและขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากต่อเยาวชนยุคไซเบอร์ และยากต่อการควบคุม เพราะมีแหล่งส่งมาจากนอกประเทศ ซึ่งมักเป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้ามโฆษณาอย่างเต็มรูปแบบที่ยากต่อการสืบหา จึงต้องอาศัย
พลังเครือข่ายของทุกประเทศร่วมกันกวดขันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างไม่มีข้อจำกัด หากไม่ดำเนินการควบคุม หวั่นว่าวัยรุ่นจะตกเป็นเหยื่อของบุหรี่มากขึ้นไปอีก เพราะในโฆษณาเหล่านี้มักสร้างภาพพจน์ของบุหรี่ว่าเป็นสินค้าที่ให้คุณ เท่ห์ และดูเป็นคนไม่ตกโลก ไม่ตกยุคสมัย
นายแพทย์หทัยกล่าวต่อว่า การโฆษณาข้ามแดนที่ว่านี้ มีทั้งวิทยุ ภาพโทรทัศน์ คลิปวีดีโอ การถ่ายทอดสด การแฝงมากับผลิตภัณฑ์นำเข้า เช่น ภาพยนตร์ ดีวีดี เสื้อผ้า ของเล่น ขนมหวานที่มีรูปร่างเหมือนผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งการควบคุมของแต่ละประเทศมักจะห้ามการโฆษณาที่มีต้นตอจากภายในประเทศ ส่วนโฆษณาที่มาจากต่างประเทศ มักได้รับการยกเว้น เช่น นิตยสาร ภาพยนตร์ และหลายประเทศยังไม่มีการห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์แฝงเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันกับกฎหมายบุหรี่โลกอีกประมาณ 30 ประเทศ รวมทั้งประเทศที่มีรัฐธรรมนูญขวางกั้นการห้ามโฆษณา จึงทำให้มีการรั่วไหลของโฆษณาบุหรี่เข้าไปยังเวทีโลก ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เช่น สารเสพติด สื่อลามก แต่ไม่ได้ห้ามบุหรี่ จึงต้องมาร่วมกันหาทางออก โดยนำความรู้สึกของสาธารณะ และเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ร่วมสกัดกั้นการโฆษณาเหล่านี้
สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ได้ทำวิจัยเรื่องการโฆษณาบุหรี่ผ่านโทรทัศน์ ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542 พบว่าถ่ายทอดไป 53 ประเทศในเอเชีย ซึ่งมีผู้ชม 300 ล้านคน มีการแสดงสัญลักษณ์บุหรี่มากถึง 40,000 ครั้ง แพร่ภาพสัญลักษณ์บุหรี่รวมเป็นเวลา 60 ชั่วโมง นายแพทย์หทัยกล่าว
นายแพทย์หทัยกล่าวต่อว่า สำหรับการโฆษณาบุหรี่และขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ต เป็นเรื่องที่กฎหมายต้องตามให้ทัน เป็นช่องทางใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม โดยจากการวิเคราะห์พบเว็บไซต์ขายบุหรี่เพิ่มขึ้นจากที่นับได้ 10 เว็บในพ.ศ. 2541 เป็น 800 เว็บในพ.ศ. 2547 ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐ สวิสเซอร์แลนด์ สเปน ปานามา และอินโดนีเซีย มีผลสำรวจการบริโภคยาสูบของเยาวชนในสหรัฐเมื่อพ.ศ. 2547พบว่านักเรียนระดับกลางและระดับสูง ที่สูบบุหรี่กว่า 1 ใน 3 เคยเห็นโฆษณาบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ต จึงนับว่าเป็นสิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรื่องนี้จะต้องไม่มีเจ้าของเดี่ยว ต้องใช้พลังเครือข่ายช่วยกัน เพราะเราไม่ทราบว่าผู้ส่งข้อมูลเป็นใคร และยังไม่มีกฎระเบียบกับผู้ประกอบการนอกประเทศ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมระเบียบส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้นในเวทีการประชุมครั้งนี้ไทยจึงเสนอให้ห้ามการโฆษณาและขายบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ต และควบคุมการส่งบุหรี่ทางไปรษณีย์ด้วย ซึ่งข้อเสนอนี้ไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวที่หยิบยกเข้าสู่ที่ประชุม
************************************** 2 กรกฎาคม 2550
View 7
02/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ