กระทรวงสาธารณสุข เร่งปฏิรูประบบบริการ ระบบการเงิน และระบบข้อมูลด้านสุขภาพ แนะการจัดสรรเงินลงพื้นที่ไม่ควรแยกเป็นส่วนๆ เพราะการจัดบริการต้องเชื่อมโยงกันทั้ง 3 ภารกิจ และควรจัดสรรให้สอดคล้องกับต้นทุนบริการและต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วย สำหรับระบบข้อมูลยึด 43 แฟ้มเป็นหลัก พร้อมตั้งศูนย์ข้อมูลที่ระดับจังหวัด เขต และกระทรวง ส่วนระบบบริการเน้นงานบริการพื้นฐาน งานตามนโยบาย และงานที่เป็นปัญหาในพื้นที่

          แพทย์หญิงอุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี เพื่อร่วมกันพิจารณากลไกการบริหารจัดการในปีงบประมาณ 2558 ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูปแนวทางการบริหารจัดการ 3 ระบบใหญ่ๆ คือ ระบบบริการ ระบบการเงินการคลัง และระบบข้อมูลด้านสุขภาพ โดยระบบการเงินการคลังที่ใช้มีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ งบผู้ป่วยใน งบผู้ป่วยนอก และงบส่งเสริมป้องกัน ส่วนระบบบริการ มี 3 ระบบคือปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และเป็นบริการที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการ และ ดำเนินการไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ทราบว่าจะดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไร และประชาชนจะได้อะไร

          แพทย์หญิงอุทุมพรกล่าวต่อว่า เรื่องระบบบริการ ที่ประชุมมีความเห็นว่า ให้ รพ.สต.รับผิดชอบงานบริการขั้นพื้นฐานและงานชุมชน ประกอบด้วยงานเยี่ยมบ้านประชาชน งานรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน หมู่บ้าน เพื่อลดการเจ็บป่วย ส่วนโรงพยาบาลระดับอื่นๆ ให้พัฒนาระบบการรักษาพยาบาล ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และการส่งต่อที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้จะให้มีการจัดทำข้อตกลงการจัดบริการ ระหว่างรพ.สต.กับอำเภอ   อำเภอกับจังหวัด จังหวัดกับเขต และเขตกับกระทรวงสาธารณสุข   

          ในเรื่องระบบการเงินการคลัง ที่ประชุมมีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงพื้นที่ ควรจัดสรรไปตามจำนวนรายหัวประชากรในแต่ละเขตบริการสุขภาพ เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งการรักษาและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ไม่ควรแยกเป็นส่วนๆ เหมือนที่ผ่านมา โดยจะมีคณะกรรมการบริหารจัดการที่ระดับเขต จังหวัด และอำเภอหรือเครือข่ายบริการระดับอำเภอ ทำหน้าที่ปรับเกลี่ยเงินลงไปยังพื้นที่ให้สอดคล้องกับต้นทุนบริการและต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง มีการจัดทำกรอบการทำงาน การใช้เงิน และควบคุมกำกับการทำงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ละพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรเงิน จะต้องจัดทำแผนงานรองรับการใช้เงิน และมีตัวชี้วัดของพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสุขภาพของพื้นที่นั้นๆ โดยมีผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ควบคุมกำกับในระดับเขตและจังหวัด 

สำหรับเรื่องระบบข้อมูลสุขภาพ ที่ประชุมเห็นว่า ให้ยึด 43 แฟ้มเป็นหลัก และจะมีการปรับให้กระชับเท่าที่จำเป็นและนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยให้มีศูนย์ข้อมูลที่ระดับจังหวัด เขต และกระทรวงสาธารณสุข ให้ รพ.สต. เก็บข้อมูลที่ตอบสนองการให้บริการของ รพ.สต. ส่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลระดับบุคคล และข้อมูลการให้บริการในพื้นที่ไป ที่ศูนย์ข้อมูลจังหวัดเท่านั้น โดยเขตและกระทรวงฯ จะต้องใช้ข้อมูลจากศูนย์จังหวัด ส่วนข้อมูลของโรงพยาบาลระดับอื่นๆ ต้องเป็นข้อมูลที่ตอบสนองต่อการจัดบริการดูแลรักษาผู้ป่วย บ่งบอกประสิทธิภาพการทำงาน และตอบสนองตัวชี้วัดด้วยเช่นกัน

          “การปฏิรูประบบงาน เงิน ข้อมูลครั้งนี้ มั่นใจว่าจะทำให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกัน จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนผู้ให้บริการจะมีความสุขในการทำงานมากขึ้น” แพทย์หญิงอุทุมพรกล่าว

 *************************************   6 กรกฎาคม 2557

 

 

 

 

 

 

 

 



   
   


View 10    06/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ