“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดทำร่างกฎหมายประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดบนรถไฟ และสถานีรถไฟ ขณะนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุม คสช. เพื่อมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ชี้ผลสำรวจครั้งล่าสุดในพ.ศ.2554 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุรามากถึง 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31.5 หรือพบทุกๆ 1 ใน 3 คน
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอกฎหมายห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนรถไฟ และสถานีรถไฟ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านสุขภาพผู้ดื่มเอง รวมไปถึงครอบครัวและสังคม ที่พบได้บ่อยคือการเมาสุราแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุจราจร ปัญหาอาชญากร ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างกฎหมายเสร็จสมบูรณ์แล้ว เตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อลงนามและประกาศใช้บังคับโดยเร็วที่สุด
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ เป็นประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. … ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551ซึ่งผ่านการเห็นชอบและดำเนินการร่างโดยคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข สาระกฎหมายฉบับนี้ คือห้ามผู้ใดขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ โดยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ลงนามประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ต่อไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทางด้าน นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนไทยขณะนี้ อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2554 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งทั่วประเทศมี 53.9 ล้านคน พบว่าเป็นผู้ดื่มสุรา 17 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31.5 กล่าวได้ว่าในประชาชนวัยนี้ในทุก 3 คน จะมีคนดื่มสุรา 1 คน โดยผู้ชายมีอัตราดื่มสูงกว่าผู้หญิง 5 เท่าตัว อายุเฉลี่ยที่เริ่มดื่มคือ 20.3 ปี โดยผู้ชายเริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 19.4 ปี ส่วนผู้หญิง 24.9 ปี ผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่าในครัวเรือนที่สมาชิกดื่มสุรา มีปัญหาการใช้ความรุนแรงหรือความสัมพันธ์ในครัวเรือนร้อยละ 36.6 รองลงมามีปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพร้อยละ 25 ได้รับบาดเจ็บร้อยละ 23 และมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกับคนนอกครัวเรือนร้อยละ 14.6 ซึ่งเรื่องนี้ นอกจากมีมาตรการทางกฎหมายบังคับใช้แล้ว สังคมจะต้องช่วยกันสอดส่องป้องกันปัญหาด้วย
ที่ผ่านมา ได้มีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ 9 ประเภท ได้แก่ 1. วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา 2.สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลหรือร้านขายยา 3.สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร 4. หอพัก 5.สถานศึกษา 6.สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 7.สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป 8.รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นร้านค้าหรือสโมสร และ 9.พื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน
************************ 9 กรกฎาคม 2557