“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการบำบัดผู้ติดยาเสพติดแบบบูรณาการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใน 3 เดือนที่เหลือ ให้ได้ 30,000 คน โดยเร่งรัดให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง บำบัดผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรฐานสากล และตั้งเป้าติดตามหลังบำบัดครบ 12 เดือน อย่างน้อยร้อยละ 80 พร้อมทั้งจัดทำคู่มือจำแนกคัดกรองและแนวทางดูแลต่อเนื่องแก่ผู้ผ่านการบำบัดเป็นมาตรฐานกลางของประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเป็นแนวทางเดียวกัน
วันนี้ ( 10 กรกฎาคม 2557) ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวบรรยายมาตรการแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาแบบบูรณาการ ในการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งผู้แทนกทม. ผู้แทนเมืองพัทยา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 1,500 คน ว่าในช่วงเวลาที่เหลือ 3 เดือนนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดในการบูรณาการบำบัดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ให้เป็นไปตามเป้า ตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยการบำบัดผู้เสพยาเสพติดมี 3 ระบบ คือ ระบบสมัครใจรับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทยและสาธารณสุขมีเป้าบำบัดรวม 180,000 คน ระบบบังคับบำบัดกับต้องโทษ มีเป้าบำบัดรวม 120,000 คน รับผิดชอบโดยกรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์ รวมเป้าหมาย 3 ระบบ ในปี 2557 นี้ ต้องบำบัดได้ 300,000 คน แต่ในภาพรวมดำเนินการได้ 175,791 คน คิดเป็นร้อยละ 59 ของเป้าหมาย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดผู้ติดยาในระบบสมัครใจและระบบบังคับบำบัด ซึ่งจะส่งมาจากกรมคุมประพฤติ ในปีงบประมาณ 2557 นี้ ตั้งเป้าหมายบำบัดรักษาทั้ง 2 ระบบรวม 75,950 คน ซึ่งผลดำเนินการในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมาจนถึง 7 กรกฎาคม 2557 บำบัดได้ 52,413 คน คิดเป็นร้อยละ 69 ของเป้าหมาย
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า แผนการดำเนินงานในช่วงเร่งรัด 3 เดือนนี้ กระทรวงฯ จะเน้นการบำบัดในผู้เสพยาที่เหลือประมาณ 30,000 คน โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศทั้งในกทม.และต่างจังหวัด รวมกว่า 800 แห่ง เร่งรัดดำเนินการ โดยใช้ระบบบำบัดที่ได้มาตรฐานสากล เช่น ระบบ แมตทริกซ์ (Matrix) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง และนิยมใช้ทั่วโลก บำบัดได้ทั้งกาย จิต และสังคม โดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูดูแลร่วมด้วย ใช้เวลาในการบำบัด 1-4 เดือน ทำให้ผู้บำบัดสามารถอยู่ในชุมชนได้และยังได้บูรณาการเรื่องการดูแลรักษาต่อเนื่องร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้จัดทำมาตรฐานกลางของประเทศในการบำบัดผู้เสพและติดยาเสพติด 2 เรื่อง ได้แก่ คู่มือในการจำแนกคัดกรองผู้เสพยาแยกจากผู้ติดยาเสพติด และแนวทางการดูแลต่อเนื่องแบบบูรณาการในผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้ง 3 ระบบ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสังกัดที่รับผิดชอบงานยาเสพติดในส่วนภูมิภาค จำนวน 1,000 คน ใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 วัน โดยให้สถาบันธัญรักษ์และโรงพยาบาลจิตเวช เป็นผู้ฝึกอบรม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรจากหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ดูแลต่อเนื่องหลังการบำบัดใน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ที่อยู่ในข่ายเสพยาหรือใช้ยา ก่อนเข้าสู่ระบบบังคับบำบัดหรือระบบต้องโทษต่อไป และหากแพทย์ตรวจพบว่า มีปัญหาสุขภาพจิตและโรคแทรกซ้อนทางกายด้วยจะส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตและศูนย์ยาเสพติดของกรมการแพทย์ทำการบำบัด ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางต่างจากผู้เสพยาทั่วไปใช้เวลาบำบัด 1-4 เดือน
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดคำของบประมาณตามแผนป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยบูรณาการกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมประมาณ 1,965 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร 62 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทักษะในการให้คำปรึกษาขั้นพื้นฐาน การดูแลบำบัดแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่เสพติดอย่างรุนแรง รวมถึงแนวทางในการดูแลแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า สถานการณ์การใช้ยาเสพติดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พบว่าสารเสพติดที่ใช้มากอันดับ 1 คือ ยาบ้า ร้อยละ 86 รองลงมาคือ กัญชา ร้อยละ 4 ยาไอซ์ ร้อยละ 3.6 และกระท่อม ร้อยละ 2.7