“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกระทรวงสาธารณสุขและคสช.ไม่มีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่มีการเสนอต่อที่ประชุมการตรวจเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยืนยันสิทธิประโยชน์ยังเหมือนเดิม สิ่งที่กำลังทำคือ กระจายอำนาจการบริหารไปเป็น 12 เขตบริการ และปรับระบบการเงินการคลังจ่ายตรงไปที่เขตบริการ ให้เพียงพอต่อการจัดบริการขั้นพื้นฐานให้ประชาชน มุ่งเดินหน้าจัดระบบบริการที่ดีที่สุดให้ประชาชน บริหารงบอย่างโปร่งใส
จากกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นเรื่องการให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น วันนี้ (15 กรกฎาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า แนวทางการปฎิรูปกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้และไม่ได้มีการนำเสนอในที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ในโอกาสที่ประธานฝ่ายสังคมจิตวิทยาตรวจเยี่ยม เพื่อรับทราบแนวทางการทำงานและมอบนโยบายการทำงานในด้านสุขภาพ ในที่ประชุมในวันนั้นมีผู้บริหารทั้งในกระทรวง และองค์กรที่อยู่ในกำกับ อาทิ สปสช. สสส. สวรส. สพฉ.เป็นต้น ร่วมประชุมด้วย และคสช.ก็ไม่มีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายแต่อย่างใด
“ขอยืนยันว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ประชาชนมีสิทธิด้านรักษาพยาบาลเหมือนเดิม กระทรวงสาธารณสุขและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ไม่มีนโยบายการให้ประชาชนร่วมจ่ายแต่อย่างใด ประเด็นที่เสนอในที่ประชุมต่อประธานด้านสังคมจิตวิทยาในวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มี 11 เรื่อง มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ระยะคือระยะเร่งด่วน 4 เรื่อง ได้แก่ การปรับระบบบริการให้ดีขึ้น การปรองดอง การอภิบาลระบบคุณธรรม และขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ ระยะกลาง 5 เรื่องอาทิ การปฏิรูประบบบริการ การปฏิรูประบบการเงินการคลัง ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ระยะยาว 2 เรื่อง คือแผนลงทุนและแผนกำลังคน รวมทั้งนโยบายเร่งด่วนของ คสช. คือยาเสพติดและการจัดบริการแรงงานต่างด้าว ไม่มีการนำเสนอการร่วมจ่ายจากกระทรวงสาธารณสุขในวาระปกติที่เตรียมไว้ตามเอกสาร แต่หลังจากหมดวาระการประชุมท่านประธานที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นและมีผู้เสนอประเด็นการร่วมจ่าย 1 คนในที่ประชุม ประธานในที่ประชุมคือ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.ได้มอบกระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาปัญหาดังกล่าวฯ โดยเฉพาะงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นระยะยาว พร้อมทั้งเสนอทางออกในเรื่องนี้ในแผนระยะยาวต่อไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้ เนื่องจากมุ่งเน้นในการปฏิรูปเขตบริการสุขภาพและการจัดบริการที่ดีที่สุดให้ประชาชน และพัฒนากลไกป้องกันปัญหาการทุจริต” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังดำเนินการในระยะเร่งด่วนเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดนี้เพื่อจัดบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยจัดการกับอุปสรรคที่ทำให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดขัด ทั้งความแออัดในโรงพยาบาล ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ เพราะเราไม่สามารถพัฒนาทุกจังหวัดทั่วประเทศให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาหรือมีศูนย์รักษาโรคซับซ้อนได้ สิ่งที่ทำได้และพยายามเร่งเดินหน้าทำคือแบ่งประเทศออกเป็น 12 เขตบริการและอีก 1 กทม. เพื่อจะใส่งบประมาณ บุคลากร ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลแต่ละระดับให้เท่าเทียมกันในทุกๆ เขตบริการ ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก ลดความเหลื่อมล้ำและความแออัด ภายใต้แนวคิด “ได้พบหมอ ไม่รอนาน ใกล้ไกลระบบยาเดียวกัน”
และอีกเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันคือการปฏิรูประบบการเงินการคลัง มีข้อเสนอ 5 ข้อคือ 1. การบริหารการเงินการคลัง สุขภาพแห่งชาติ 2.การสร้างความเสมอภาคทุกกองทุน 3.การบริหารร่วมภายใต้ระบบเขตบริการ 4.การกำหนดสิทธิประโยชน์กลาง และ 5.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง แต่ไม่มีการพูดถึงการร่วมจ่าย ซึ่งยืนยันด้วยเอกสารและข้อเท็จจริงได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ทำทั้งหมดกระทรวงสาธารณสุขมุ่งที่การบริหารงบประมาณในกองทุนหลักประกันสุขภาพประมาณ 2 แสนล้านบาท ให้ถึงมือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีการหารือกับ สปสช.ในการบริหารงบประมาณที่ได้รับและจัดสรรไปให้หน่วยบริการในพื้นฐาน
ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการทำงานทั้งหมด ทั้งระบบการจัดบริการ การบริหารงานบุคคล และการเงินการคลัง ซึ่งดำเนินการไปพร้อมๆ กัน มีการหารือผู้เกี่ยวข้องภายในกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อย ทั้งในการกระจายอำนาจไปเขตบริการสุขภาพ 12 เขต และ 1 เขตกทม. มีการทำประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งการปรับระบบการเงินการคลังให้โปร่งใส มีการอภิบาลระบบคุณธรรม โดยจะนำแนวทางการปฏิรูปและข้อสรุปทั้งหมด ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่หลัก ๆ คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการ ให้เกิดประสิทธิภาพต่อการทำงาน ให้ได้ผลเป็นไปตามตัวชี้วัดต่างๆ และให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจสูงสุด และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข นายแพทย์ณรงค์กล่าว
************************************** 15 กรกฎาคม 2557