รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ต้นเหตุของการติดเอดส์มาจากผลกระทบซับซ้อนของสังคม หนุนแนวคิดใช้พลังสังคมสู้ภัยโรคเอดส์ โดยเฉพาะการป้องกันผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ กลุ่มเสี่ยงน่าจับตามองมากที่สุดคือวัยรุ่น พบทุก 1 ใน 3 เคยมีเซ็กซ์แบบฉาบฉวย ร้อยละ 70 เมินใส่ถุงยางอนามัยป้องกันโรค ป้องกันป่อง สาเหตุหลักมาจากสื่อยั่วยุทั้งเว็บโป๊และหนังเอ็กซ์
เช้าวันนี้ (4 กรกฎาคม 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2550 และบรรยายพิเศษ เรื่อง เอดส์ : ก้าวต่อไปในยุคเศรษฐกิจพอเพียง ว่า ปัญหาเอดส์ในประเทศไทยขณะนี้ ส่อแววจะหวนกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีก หลังจากที่สามารถชะลอการระบาดของโรคลงในช่วง 3-4 ปีก่อน คาดว่าในปี 2550 จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,936 ราย โดยในรอบ 20 ปีมานี้ ไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมประมาณ 1,102,628 ราย เสียชีวิตแล้วประมาณ 558,895 รายและยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 546,578 ราย
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเอดส์ที่เน้นหนักก็คือ การป้องกัน ซึ่งในปีนี้ได้นำแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งการป้องกันเป็นหนทางที่จะลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียแรงงานพัฒนาประเทศ จากการป่วยด้วยโรคเอดส์ รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ไทยดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสกว่า 1 แสนราย ถือว่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล
อย่างไรก็ตาม มาตรการเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินก็คือ การป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มเยาวชน จากการสำรวจในปี 2549 พบว่าวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุประมาณ 17 ปีหรือน้อยกว่านั้น และร้อยละ 40 มีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยทั้งชายและหญิง และกำลังเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น สาเหตุที่วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น มาจากการที่เยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อยั่วยุต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยวัยรุ่น 1 ใน 3 ดูเว็บไซต์โป๊ และอีก 2 ใน 3 ดูวีดีโอ/วีซีดีโป๊โดยวัยรุ่นชายดูมากถึงร้อยละ 72 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่น่าจับตามองได้แก่ กลุ่มชายรักชาย ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากร้อยละ 17 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 28 ในปี 2548 รวมทั้งกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 30-40 จะเป็นกลุ่มแม่บ้านที่ติดเชื้อจากสามีที่ไปเที่ยวหญิงบริการแล้วไม่มีการป้องกัน
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ไขปัญหาเอดส์ให้สำเร็จนั้น จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่ว่า เอดส์เป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่เป็นเฉพาะปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การแก้ไขมีความเข้มข้น จริงจัง ช่วยกันสกัดการแพร่ระบาดตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับกระทรวง ไม่เช่นนั้นประเทศไทยในอนาคต อาจจะประสบปัญหาที่เราต้องรับภาระจำนวนมาก เนื่องจากประชากรด้อยคุณภาพ สังคมเสื่อม มีภาระค่าใช้จ่ายของรัฐและครอบครัวจำนวนมากในการนำมาใช้แก้ปัญหา
ปัญหาเอดส์ในวัยรุ่นในปัจจุบัน ไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง ที่ขาดความใกล้ชิดระหว่างบุคคลในครอบครัว เยาวชนเข้าถึงสื่อยั่วยุง่ายขึ้น ซึ่งเยาวชนยังมีข้อจำกัดทั้งความรู้ ทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และระบบการเรียนการสอน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการอยากรู้อยากเห็นของเด็กได้อย่างเหมาะสม นายแพทย์มงคลกล่าว
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ในปีหน้า จะเน้น 4 แนวทาง ประการแรกได้แก่ การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยร้ายของโรคเอดส์ ให้ความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์มากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเสี่ยง เน้นความเข้าใจ สร้างทักษะการป้องกันและปฏิเสธพฤติกรรมเสี่ยง ประการที่ 2 พัฒนาระบบการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างทักษะชีวิตในการป้องกันตนเองจากยาเสพติด การพนัน และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ประการที่ 3 กระตุ้นให้สังคมเห็นถึงปัญหาของโรคเอดส์ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและป้องกัน และประการสุดท้าย การดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์และผู้ได้รับผลกระทบจากเอดส์ จะต้องจัดบริการต่างๆ อย่างครบวงจร ทั้งการรักษา รวมถึงระบบสวัสดิการสังคม ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเอดส์รายใหม่เข้ารับยาต้านไวรัส เพิ่มขึ้นเดือนละ 2,000-3,000 ราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย
************************** 4 กรกฎาคม 2550
View 8
04/07/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ