“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยโรงพยาบาลขอนแก่น และสำนักงานควบคุมโรคที่ 9 จ.พิษณุโลก คว้ารางวัล “ยูเอ็นพีเอสเอ” ประจำปี 2557 ขององค์การสหประชาชาติ สาขาการให้บริการสาธารณะด้วยความเป็นมืออาชีพขององค์การ ซึ่งเป็นรางวัลชนะเลิศในระดับโลก จากผลงานการจัดบริการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีจากการกระทำรุนแรง และการจัดบริการลดปัญหาการเจ็บป่วยจากโรคมาลาเรียในพื้นที่เสี่ยงสูง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การสหประชาชาติได้ให้หน่วยงานทั่วโลก ที่มีความเป็นเลิศในสาขาบริการสาธารณะต่างๆ ส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อรับรางวัล ยูไนเต็ด เนชั่นส์ พับบลิคส์ เซอร์วิส อวอร์ดหรือรางวัล ยูเอ็นพีเอสเอ ( United Nations Public Service Award :UNPSA ) โดยในปี 2557 หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2 สาขา ได้แก่ 1.โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา “การส่งเสริมการให้บริการสาธารณะที่ตอบสนองต่อเพศสภาพ” จากผลงานของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติ (One Stop Crisis Centre) หรือศูนย์พึ่งได้ 2.สำนักงานควบคุมโรคที่ 9 จ.พิษณุโลก กรมควบคุมโรค ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา “การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านนวัตกรรม” จากผลงานการพัฒนาศักยภาพบริการแบบบูรณาการ เพื่อลดความเจ็บป่วย จากโรคมาลาเรียในพื้นที่เสี่ยงสูง ที่อ.ท่าสองยาง จ. ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน ทุรกันดาร
สำหรับศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติของโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศแรกๆในอาเซียน ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่คัดกรองและดูแลช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตจากแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และทีมสหวิชาชีพ อย่างครบวงจร เป็นแหล่งพักพิงชั่วคราวก่อนส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือขั้นต่อไป รวมทั้งยังเป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์ประสานงานหน่วยงานภายในและนอกโรงพยาบาล ทำให้ผู้ประสบปัญหาเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายบริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติ ครอบคลุมโรงพยาบาลในสังกัด กว่า 700 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2549-2556 มีสถิติให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ทั่วประเทศจำนวน 31,755 ราย เฉลี่ย 87 รายต่อวัน ส่วนใหญ่ถูกกระทำทางเพศ ทั้งนี้ที่ผ่านมาสังคมไทยยังมองเรื่องเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ควรปกปิดเป็นความลับ ทำให้ผู้ประสบปัญหาไม่กล้าไปใช้บริการหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับผลงานการพัฒนาศักยภาพบริการแบบบูรณาการ เพื่อลดความเจ็บป่วยจากโรคมาลาเรียในพื้นที่เสี่ยงสูง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ของสำนักงานควบคุมโรคที่ 9 จ.พิษณุโลก เป็นการบริหารจัดการแก้ปัญหาเชิงรุกในชุมชน ที่เป็นพื้นที่ชายแดน การคมนาคมยากลําบาก โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย เช่น หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง หน่วยงานสาธารณสุขและอาสาสมัครในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ผู้ป่วยและครอบครัว มีการตรวจวินิจฉัยเชื้อมาลาเรีย และให้การรักษาอย่างรวดเร็วและฟรี การให้ความรู้การป้องกัน บริการแจกมุ้งชุบสารเคมี ตัดวงจรการแพร่กระจายโรค ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับการรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้แนวโน้มโรคมาลาเรียในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 30,000 กว่าคนในปี 2550 เหลือ 14,000 กว่าคนปี 2556 ที่ยังเป็นปัญหาคือบริเวณชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน
********************** 21 กรกฎาคม 2557