คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมวางแผนบริหารจัดการ เพื่อจัดระบบบริการสุขภาพที่ดีกว่าแก่ประชาชนร่วมกันในปี 2558 โดยใช้กลไกทางการเงินและกลไกบริหารจัดการในรูปแบบเขตสุขภาพ 12 เขต และกทม. ลงแก้ปัญหาให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่ 
          นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับคณะทำงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. นำโดยนายแพทย์ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการอาวุโส ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนบริการสุขภาพ และคณะทำงานของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดยนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า การหารือในวันนี้ เพื่อร่วมกันจัดเตรียมข้อมูลการบริหารจัดการงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2558 เพื่อเตรียมการจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้กลไกการเงินการคลังควบคู่กับกลไกการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข ในการทำงานให้สอดคล้องกับการปฏิรูปโครงสร้างการทำงานแบบเขตบริการสุขภาพ
          นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ผลการหารือในระดับปฏิบัติการในครั้งนี้ มีความเห็นตรงกันว่า ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ถือเป็นทีมสุขภาพทีมเดียวกัน แต่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดบริการ (Provider) และผู้กำกับดูแล (Regulator) ส่วนสปสช.เป็นผู้ซื้อบริการแทนประชาชน (Purchaser) จึงต้องร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการที่ดีกว่า (Better Service) ให้ประชาชนมีสุขภาพดี เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย และได้รับบริการที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งต้องอาศัยทั้งกลไกทางการเงินและกลไกการบริหารจัดการในพื้นที่ควบคู่กัน เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนการจัดบริการสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพประชาชนได้ดียิ่งขึ้น บรรลุเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน โดยเห็นว่าการบริหารแบบเขตสุขภาพ 12 เขต และกทม. เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางออกไปที่เขต ซึ่งอยู่ใกล้ชิดและรู้ปัญหาของพื้นที่ดีกว่าส่วนกลาง และยังขยายผลไปถึงเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบการส่งเสริมสุขภาพควบคุมป้องกันโรค ลดการเจ็บป่วย และคุณภาพการรักษาดีขึ้น
          อย่างไรก็ตาม คณะทำงานยังมีความเห็นในหลายประเด็นที่แตกต่างกัน เช่นข้อจำกัดจากมติของคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบวิธีการปฏิบัติ ในการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพฯ ลงพื้นที่ เนื่องจากแนวทางปฏิบัติของทั้ง 2 หน่วยงานแตกต่างกัน สำหรับการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพ มีความเห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องลดภาระเจ้าหน้าที่ในการรายงานข้อมูล ซึ่งมีรายงานการวิจัยพบว่า ใช้เวลาในการบันทึกข้อมูลร้อยละ 40 เท่ากับเวลาที่ใช้ในการบริการประชาชน และอีกร้อยละ 20 เป็นการประชุมต่างๆ จึงต้องร่วมกันกำหนดระบบการรายงานผลการปฏิบัติงานต่างๆ ให้เป็นทิศทางเดียวกันและเป็นฐานข้อมูลเดียวกันสามารถใช้ร่วมกันได้หลายหน่วยงาน ทั้งนี้ การหารือในครั้งนี้เป็นความเห็นร่วมกันในระดับคณะทำงาน จะต้องเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจของแต่ละหน่วยต่อไป
  ************************************ 30 กรกฎาคม 2557
 


   
   


View 12    31/07/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ