กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 5 ทีม ลงเรือท้องแบน ให้บริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วยพิการและผู้โรคเรื้อรัง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ป้องกันภาวะขาดยา  พร้อมเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคฉี่หนู และอุจจาระร่วง ขณะนี้ยังไม่พบการระบาด ส่วนสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเปิดให้บริการตามปกติ

          วันนี้ (2 สิงหาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากฝนตกหนักในขณะนี้  โดยวันนี้ ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ว่า มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมโดยเฉพาะใน 2 อำเภอคือพิบูลมังสาหาร และตระการพืชผล ที่น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงประมาณ 1 เมตร บางหมู่บ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้ เนื่องจากถนนถูกตัดขาด ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้  ส่วนสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งปลอดภัยน้ำไม่ท่วม สามารถเปิดให้บริการตามปกติ

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ดูแลป้องกันให้สถานบริการสาธารณสุขให้ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม สำรองยาและเวชภัณฑ์ไว้บริการผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ นำเวชภัณฑ์ยา ออกให้บริการผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 2 อำเภอที่น้ำท่วมหนัก จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ  โดยในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง  ให้ใช้เรือท้องแบนเป็นพาหนะในการออกให้บริการ  และในวันนี้ได้ส่งหน่วยแพทย์ออกไป  5 ทีม ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ 40 คน เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนชรา ผู้ป่วยพิการและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  ที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้งเพื่อป้องกันภาวะขาดยารักษาโรคต่อเนื่อง

          ด้านนายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกอำเภอเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคไข้ฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ ผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมายังไม่มีโรคระบาด พร้อมให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด ขอความร่วมมือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งส้วมมักจะใช้การไม่ได้ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปฝังกลบ ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ เพื่อลดความสกปรกน้ำท่วม ให้ดื่มนำสะอาดบรรจุขวด หรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ให้ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังออกจากห้องน้ำทุกครั้ง  หลังจากเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง หากประชาชนมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่อง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ขอให้นึกถึงโรคไข้ฉี่หนู ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านและหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือยาที่กินประจำใกล้หมด สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง 

 *********************** 2 สิงหาคม 2557

 



   
   


View 18    03/08/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ