ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์เพี่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ แนะนำให้เรียกโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแทนไข้เลือดออกอีโบลา เพื่อป้องกันความสับสน เสนอให้ สธ.ออกประกาศให้โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรค  พร้อมเพิ่มมาตรการความพร้อมด้านระบบการเฝ้าระวังโรคที่สนามบินนานาชาติ   มาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน การสร้างเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัย

วันนี้ ( 6 สิงหาคม 2557 ) ที่กรมควบคุมโรค   ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ   ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์  เพี่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ  ตามคำสั่งของคณะกรรมการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ    ประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านคนและด้านสัตว์    เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือการระบาดของโรคไวรัสอีโบลาของไทย  

      

     

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า  กระทรวงสาธารณสุขได้เชิญคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการฯ มาประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น  เพื่อลดความสับสน และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน จากการติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้ออีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,603 ราย เสียชีวิต 887 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 55  ใน  4 ประเทศ คือ ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน  กินี และไนจีเรีย  โดยผู้ป่วยในประเทศไนจีเรียเป็นผู้ที่เดินทางจากประเทศไลบีเรีย ไม่ได้ติดเชื้อในประเทศไนจีเรีย และมีผู้ติดจากผู้ป่วยรายนี้อยู่น้อยราย  ขณะนี้ประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน  กำลังมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากและต่อเนื่อง จำนวนนี้บางส่วนเป็นบุคลากรทางการแพทย์

    

การป้องกันควบคุมโรคของไทยขณะนี้ วางมาตรการไว้ 7 ประการได้แก่  1. ให้ติดตามสถานการณ์ และประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด  2.ติดตามเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีโรคระบาดอยู่คือ ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี และไนจีเรีย โดยคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบินนานานาชาติทุกแห่ง และติดตามอาการจนครบ 21 วัน และเฝ้าระวังสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ 3.เตรียมความพร้อมการตรวจทางห้องปฎิบัติการทั้งในคนโดยเครือข่ายห้องปฏิบัติการ และในสัตว์โดยกรมปศุสัตว์  4. เตรียมด้านการรักษาพยาบาล ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล  ป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 5.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเข้าใจ แนะนำผู้เดินทางที่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เข้าใจตรงกันและถูกต้อง ไม่คอยฟังข่าวลือต่างๆ เช่นทางโซเชียลมีเดีย   ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อย ควรติดตามข้อมูลที่เป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีการตรวจสอบแล้ว และเชื่อถือได้    6.กระทรวงฯ ได้เปิดวอร์รูม เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ประสานงาน สั่งการ ป้องกัน ควบคุมโรค ทุกวัน  และ 7.มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสถานการณ์และปรับปรุง มาตรการต่าง ๆ ที่วางเอาไว้  ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ ได้กำหนดการเรียกชื่อโรค  เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน   ขณะนี้สากลใช้ชื่อว่า Ebola Virus Disease : EVD แปลเป็นภาษาไทยว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ใช้ชื่อว่า โรคไวรัสไข้เลือดออกอีโบลา แล้ว  เพราะฉะนั้นในประเทศไทยควรใช้ชื่อให้สอดคล้องกับสากลคือใช้คำว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เท่านั้น อาจเรียกสั้นๆว่ า โรคอีโบลา

สำหรับการกำหนดพื้นที่การระบาด เพื่อประโยชน์ในการวางมาตรการป้องกันควบคุมโรค ควรถือตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ซึ่งขณะนี้ถือว่าประเทศที่มีโรคระบาด คือ ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี ส่วนไนจีเรียยังไม่จัดรวมเข้าในประเทศที่มีโรคระบาด เพราะผู้ป่วยรายแรกติดเชื้อจากประเทศอื่น และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่กี่ราย หากการติดเชื้อกว้างขวางขึ้น ก็จะกำหนดพื้นที่ระบาดใหม่

เรื่องการวินิจฉัย ควรกำหนดหลักเกณฑ์วินิจฉัย โดยใช้ปัจจัยสำคัญ เช่น ผู้ป่วยมีไข้ มีประวัติเดินทางมาจากในพื้นที่เสี่ยง มีอาการเข้าได้กับโรคอีโบลา มีประวัติการสัมผัสโรค  โดยเฉพาะสัมผัสกับผู้ป่วย และควรปรับเกณฑ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ     

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ  กล่าวต่อไปอีกว่า  ที่ประชุมสนับสนุนให้ประกาศ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523  ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการควบคุม ป้องกันโรค  เพราะจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการกักกันผู้ป่วย  ผู้สัมผัสโรคเมื่อมีความจำเป็น  และในการเรียกข้อมูลจากผู้ที่เดินทางได้ เช่น ที่พำนัก หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยให้ติดตามเฝ้าระวังการป่วยได้  

                             

   

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เสนอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยประสานความร่วมมือของเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการภายในประเทศ  และร่วมมือกันจัดทำแนะนำแนวทางการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่รวดเร็ว ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อให้การวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้อง และบุคลากรปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น  และแนะนำให้เผยแพร่แก่บุคลากรโดยเร็ว ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคล รวมทั้งห้องแยกโรคป้องกันการติดเชื้อ ในโรงพยาบาลต่างๆ ได้มีการเตรียมการต่อเนื่องมาตั้งแต่การรับมือโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่  

 ประเด็นสุดท้ายที่พิจารณาคือ การสื่อสารความเสี่ยงและการประชาสัมพันธ์  ควรเผยแพร่ทุกช่องทางทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน   เพื่อให้อุ่นใจว่า มีการดูแล เตรียมความพร้อม ป้องกันไว้ล่วงหน้า สำหรับการประเมินความเสี่ยง        เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงน้อยมากต่อการระบาดของโรคอีโบลา

 ************* 6 สิงหาคม 2557



   
   


View 12    07/08/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ