กระทรวงสาธารณสุข เผยอาการผู้ป่วยที่สันนิษฐานว่าถูกแมงมุมกัดบริเวณมือ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี   แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด  แต่ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว คาดว่า 2-3 วันจะกลับบ้านได้ โดยทีมแพทย์พร้อมให้การรักษาอย่างเต็มที่จนกว่าจะหายเป็นปกติ

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำเขตสุขภาพที่ 11  ให้สัมภาษณ์กรณีข่าวของผู้ป่วยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ที่สันนิษฐานว่าถูกแมงมุมกัดบริเวณมือ  ซึ่งมีอาการไข้สูง ปวดแผล  บาดแผลที่มือ อักเสบบวมเป็นถุงน้ำ มีอาการแน่นหน้าอกและหายใจติดขัด  ขณะนี้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ว่า  ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ถึงความคืบหน้าของผู้ป่วย ว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าการอักเสบของแผลที่ส่งผลให้ติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น เกิดจากถูกแมงมุมกัดหรือเป็นผลมากจากถูกเหล็กแหลม เนื่องจากอาการหากถูกแมงมุมกัด จะมีอาการในช่วงเวลานั้นเลย  แต่ผู้ป่วยกลับแสดงอาการอักเสบหลังถูกกัดไปแล้ว 3-5 วัน จึงคาดว่าไม่น่าจะเกิดจากแมงมุมกัด  อย่างไรก็ตามได้ให้เจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยา จากสำนักสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการสอบสวนโรค เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็ว

นายแพทย์อดิเกียรติ  เอี่ยมวรนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยขณะมาถึงโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีนั้น มีอาการอักเสบของแผลมาก แผลบวมแดง และเป็นหนองมาก รุนแรงถึงขั้นช็อก ทีมแพทย์พยาบาลได้ให้การรักษาและแพทย์ได้ผ่าตัดถุงน้ำที่หลังมือทำความสะอาดแผล ให้ยาฆ่าเชื้อ   ให้พักรักษาตัวในห้องไอซียู   ขณะนี้อาการดีขึ้นมากแล้ว   และเตรียมถอดเครื่องช่วยหายใจ  คาดว่าผู้ป่วยจะนอนพักรักษาตัวอีกประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีจะให้การรักษาอย่างเต็มที่  จนกว่าคนไข้จะหายเป็นปกติ

นายแพทย์อดิเกียรติ กล่าวต่อว่า ปัญหาของบาดแผลติดเชื้อ  พบได้ทั่วไป  แม้จะเป็นบาดแผลขนาดเล็กน้อย ขอให้รีบล้างบาดแผล   โดยใช้น้ำดื่มบรรจุขวด  น้ำประปา หรือน้ำต้มสุกล้างและฟอกสบู่ ทำความสะอาด ชำระสิ่งสกปรก  หากมีแอลกอฮอล์ให้เช็ดรอบๆ แผล    และทายารักษาแผลสด เช่น โพรวิดีน เป็นต้น  และดูแลบาดแผล อย่าให้แผลถูกน้ำ  เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด   ประการสำคัญไม่แนะนำให้รักษาบาดแผลด้วยวิธีการพอกสมุนไพรสด   เนื่องจากกรรมวิธีอาจไม่สะอาดพอ    ทั้งนี้หากบาดแผลยังไม่ดีขึ้น เช่นแผลบวมแดง  ควรรีบพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน   

ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นบาดแผลที่มีถูกของแหลมทิ่มตำ  เช่น ตะปูที่มีสนิม  ถูกหนามตำ  จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  การดูแลบาดแผลขอให้บีบเลือดออกจากแผลขณะล้างแผลด้วยน้ำสะอาด  และทำความสะอาดแผล    จากนั้นควรพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน  เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย

      ***********************************      18 สิงหาคม 2557  



   
   


View 12    19/08/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ