กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมวิศวกรประเมินความปลอดภัยอาคารผู้ป่วยในรพ.เลาขวัญ อ.เลาขวัญจ.กาญจนบุรี โดยขณะนี้ยังคงให้บริการประชาชนต่อเนื่อง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม เฝ้าระวังโรคฉี่หนู ภายหลังน้ำลด แนะประชาชน ให้ใส่รองเท้าขณะทำความสะอาดที่พักอาศัย ป้องกันเกิดบาดแผลที่เท้า หากมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก ให้สงสัยโรคฉี่หนู และพบแพทย์    

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีอาคารผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาล(รพ.) เลาขวัญ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี  เกิดรอยร้าว ผนังกำแพงแยกจากเสาอาคาร ว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมวิศวกรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ไปตรวจสอบประเมินความปลอดภัยตัวอาคาร ร่วมกับทีมโยธาธิการและผังเมืองของจังหวัดฯ  อาคารหอผู้ป่วยหลังนี้เป็นอาคารชั้นเดียว ดูแลผู้ป่วยสามัญและห้องพิเศษ รวม40 เตียง สร้างเมื่อพ.ศ. 2538  ขณะนี้ได้งดใช้อาคารชั่วคราว ได้ย้ายผู้ป่วย ที่พักรักษาจำนวน 38 ราย ไปพักที่อาคารหอประชุมของโรงพยาบาลแทน ส่วนอาคารอื่นๆ สามารถใช้การได้ตามปกติ โดยโรงพยาบาลยังให้บริการตรวจรักษาประชาชนตามปกติ ขณะนี้เหลือผู้ป่วยนอนพักรักษา 22 รายส่วนใหญ่ช่วยเหลือตนเองได้  

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่าจากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลง เป็นปกติ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัย เฝ้าระวังโรคในช่วงหลังน้ำลด ที่สำคัญคือโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสโรซีส (Leptospirosis) เนื่องจากเชื้อโรคที่อยู่ในฉี่หนู จะปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมและอยู่ในดินโคลนชื้นแฉะ เชื้อจะไชเข้าทางแผลรอยผิวหนังถลอก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ  ประชาชนมีโอกาสติดเชื้อโรคนี้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่เข้าไปทำความสะอาดที่พักอาศัย อาจเกิดบาดแผล รอยขีดข่วนได้ จึงขอแนะนำให้สวมใส่รองเท้าบู๊ทยางหรือรองเท้าหุ้มส้นอื่นๆ ขณะเดินย่ำน้ำดินโคลน เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้า และให้รีบชำระล้างร้างกายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ รับประทานอาหารปรุงสุกและร้อน อาหารที่ค้างคืนต้องอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวด   

สำหรับโรคฉี่หนู หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง บางครั้งประชาชนอาจคาดไม่ถึงคิดเป็นว่าเป็นไข้ ปวดเมื่อยจากการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ หากมีอาการดังกล่าว ภายใน 3 วันอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลนด้วย เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหายขาด ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง  เนื่องจากอาจทำให้ไปรับการรักษาช้า โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

กันยายน/7 ***************************** 3 กันยายน 2557

 



   
   


View 8    03/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ