กระทรวงสาธารณสุขสร้างทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนามหรือทีมเมิร์ททั้งชุดใหญ่และชุดเล็กประจำจังหวัดและอำเภอ ดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทุกระดับและส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ในปี 2557 ตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่ให้ได้ร้อยละ 80 และเต็มพื้นที่ในปี 2558 โดยมีการฝึกซ้อมทดสอบความพร้อมการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพิ่มความคล่องตัว เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด
วันนี้ (8 กันยายน 2557) ที่สนามฝึกกองทัพบก จ.สระบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดฝึกการฝึกซ้อม ทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนามหรือที่เรียกว่าทีมเมิร์ท (Medical Emergency Response Team : MERT) และมินิเมิร์ท (Mini MERT)ใน 8 จังหวัดภาคกลางได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทองและนครนายก ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมการบูรณาการทำงานระหว่างบุคลากรการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัยเอกชน กระทรวงกลาโหม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานท้องถิ่น รวมกว่า 600 คน สร้างความพร้อมรองรับระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับเขต สามารถดูแลรักษาและส่งต่อประชาชนที่ได้รับอันตรายจากภัยพิบัติให้ได้รับความปลอดภัยทุกระดับความรุนแรง เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ให้มีประสิทธิภาพและมีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นการดูแลรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ และนำส่งไปยังโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย โดยในระบบปกติจะมีทีมแพทย์กู้ชีพ ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่นจากโรคหัวใจกำเริบ อุบัติเหตุทุกประเภท มีระบบการแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้มีเครือข่ายถึงระดับตำบล
ส่วนในกรณีที่มีภัยพิบัติขนาดใหญ่ มีผลกระทบในวงกว้าง จะมีทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนาม ที่เรียกว่าทีมเมิร์ท (MERT) มี 2 ระดับคือระดับจังหวัด มีทีมชุดใหญ่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สหสาขาวิชาชีพ รวม 16 -17 คน มีศักยภาพความพร้อมสูง คล่องตัว ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สามารถออกไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ประสบภัยหลังได้รับการสั่งการ โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่ประสบภัย และระดับอำเภอ เป็นทีมปฏิบัติการขนาดเล็ก หรือทีมมินิเมิร์ทที่มีความคล่องตัว ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ 4-5 คน สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ทั้งทีมเมิร์ทและมินิเมิร์ทนี้ จะดูแลทั้งเรื่องระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System )ในพื้นที่เกิดเหตุ ทำงานประสานกับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือวอร์รูมใหญ่ของกระทรวงฯ เพื่อนำผู้ป่วยส่งต่อส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นๆ และปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์ปฎิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของจังหวัดที่ประสบภัย รวมทั้งทำหน้าที่ร่วมกับทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ควบคุมป้องกันโรคระบาดและดูแลสุขภาพจิตร่วมกับทีมสุขภาพจิตของจังหวัด เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด โดยมอบให้กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา ปีนี้ตั้งเป้าพัฒนาทีมแพทย์ฉุกเฉินภาคสนามให้ได้ร้อยละ 80 ของพื้นที่และครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปี 2558
นายแพทย์ณรงค์กล่าว ในการฝึกซ้อมครั้งนี้ จะมีการจำลองเหตุการณ์สาธารณภัยต่างๆที่เกิดขึ้นบ่อย เช่นสารเคมี น้ำท่วม เป็นต้น เพื่อฝึกซ้อมในการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลประชาชน ระบบการสั่งการ ระบบการรักษาพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันการการเสียชีวิตหรือพิการของประชาชนให้เร็วและมากที่สุด
********************* 8 กันยายน 2557