กระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการเยียวยาสมานฉันท์หลังเหตุชุมนุมทางการเมือง ในรอบ 4 เดือนนี้ เยียวยาไปแล้ว 473 ราย ได้ผลดี ร้อยละ 85 สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีผู้ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 28 ราย เนื่องจากยังมีภาวะซึมเศร้า จากปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ สาธารณสุขส่งเจ้าหน้าที่ระดับมืออาชีพติดตามฟื้นฟูต่อเนื่อง
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว ในการเสวนา การปฎิรูปสาธารณสุข เพื่อความสมานฉันท์ ในงานประชุมวิชาการ กระทรวงสาธรณสุข ประจำปี 2557 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ผลการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองทั่วประเทศ ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา ทีมเยียวยาสุขภาพจิตของโรงพยาบาลจิตเวชดำเนินการไปแล้วจำนวน 473 ราย จากการติดตามประเมินผลพบว่าร้อยละ 87 สามารถปรับตัวได้ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และดำรงชีวิตได้ตามปกติ อีกร้อยละ 13 ยังต้องติดตามต่อเนื่อง และพบว่ามี 28 ราย ต้องติดตามเยียวยาจิตใจใกล้ชิด เนื่องจากยังพบปัญหาความเครียด มีภาวะซึมเศร้า จากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพเนื่องจากความพิการที่เกิดจากการบาดเจ็บ บางรายยังมีความรู้สึกสูญเสียบุคคลในครอบครัว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสรุปผลการดำเนินการตามโครงการเยียวยา สร้างความสมานฉันท์ ในวันที่ 15 กันยายน 2557 นี้ และจะวางแผนการติดตามอย่างต่อเนื่องในเขตสุขภาพทุกเขตต่อไป จนกว่าสุขภาพจิตจะกลับมาสู่ภาวะปกติ
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า วันนี้ก้าวเข้าสู่ระยะกลางของการสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศ โดยทุกระบบต้องดำเนินการเชื่อมโยงกัน ร่วมกันปฎิรูประบบหลัก ซึ่งระบบสาธารณสุขจัดเป็นระบบหลักของประเทศระบบหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้ลดการเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการ และมีสุขภาวะดีขึ้น เมื่อทุกอย่างเชื่อมโยงกันและสามารถคลี่คลายความขัดแย้งลงได้ระดับหนึ่ง เราก็จะเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ไปสู่สังคมที่มีความสุขมากขึ้น ขณะเดียวกันร่วมกันค้นหามูลเหตุที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพื่อแก้ไขโดยใช้กระบวนการเวทีของประชาชน เพื่อทำให้ชุมชนสังคมมีความสุขมากยิ่งขึ้น อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติวิธี
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมบุคลากรมือระดับมืออาชีพ ที่มีความพร้อมในการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยหรือที่เรียกว่าสารเสวนา เพื่อนำไปสู่การหาข้อสรุปร่วมกัน ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือมีความไม่เข้าใจกัน โดยได้จัดเตรียมทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับพื้นที่ในทุกเขตบริการสุขภาพ เพื่อช่วยให้ก้าวผ่านความขัดแย้ง ลดความทุกข์ใจของประชาชนในพื้นที่ และกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง และสังคมมีความสุข และเมื่อประชาชนมีสุขภาพใจดี ความเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลง ดังที่วงการแพทย์กล่าวว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อจิตใจเป็นสุข ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติ ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย
**************************** 12 กันยายน 2557
View 16
12/09/2557
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ