กระทรวงสาธารณสุขไทย จับมือองค์การอนามัยโลก ร่วมกวาดล้างโรคลิชมาเนีย ซึ่งเกิดจากแมลงริ้นฝอยทราย และเป็นโรคประจำถิ่นในแถบตะวันออกกลาง อาฟริกาเหนือ แม้พบน้อยในไทย แต่หากป่วยอาจรุนแรงถึงชีวิต แนะหากเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ควรสวมใส่เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิด นอนกางมุ้ง ดูแลความสะอาดบ้านเรือน หลังกลับมา 3-6 เดือนแล้วมีไข้ อ่อนเพลีย ขับถ่ายผิดปกติ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย ให้ไปพบแพทย์

นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคลิชมาเนีย (Leishmania) หรือโรคคาลา อาซา (Kala-azar) เป็นโรคประจำถิ่นในแถบตะวันออกกลาง และอาฟริกาเหนือ กว่า 74 ประเทศ สาเหตุเกิดจากแมลงริ้นฝอยทรายกัดและแพร่เชื้อ พบผู้ป่วยปีละ 1.2 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 1,000 คน องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้เป็น 1 ใน 6 ของโรคเขตร้อนที่ต้องเร่งกวาดล้างให้หมดไปโดยเร็ว ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ 9 กันยายน 2557 ที่บังคลาเทศ ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการใน 5 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน อินเดีย เนปาล และไทย เพื่อขจัดโรคและลดจำนวนผู้ป่วยระดับอำเภอ ตำบลให้น้อยกว่า 1 คนต่อประชากร 10,000 คนภายในปี 2560 

ทั้งนี้ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้น้อยมาก ตั้งแต่พ.ศ. 2503 - 2556 มีเพียง 63 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่พบในผู้ที่เดินทางกลับมาจากตะวันออกกลาง ในการกวาดล้างโรคดังกล่าว ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชาชนเดินทางไปทำงานที่ประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น เช่นตะวันออกกลาง เป็นต้น และประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรค วิธีการป้องกันให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า โรคลิชมาเนีย เป็นโรคที่เกิดในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น กระรอก กระแต หนู สุนัข เป็นต้นและแพร่มาสู่คน โดยแมลงริ้นฝอยทรายเพศเมีย เป็นพาหะนำเชื้อมาแพร่สู่คน จะดูดเลือดของสัตว์ที่มีตัวเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนีย ซึ่งอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวสัตว์ และมากัดคนต่อ หลังติดเชื้อจะมีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 3-6 เดือนจึงปรากฏอาการ ริ้นฝอยทรายจะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ในที่มืด เย็น ชื้น เช่นกองอิฐ หิน ไม้ฟืน จอมปลวกเก่า รอยแตกของฝาผนังหรืออิฐ ตอไม้ผุ หรือพื้นดินที่มีใบไม้ปกคลุมในป่าทึบ และใกล้คอกสัตว์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการป่วยแบบค่อยเป็นค่อยไป มีไข้เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ซีด อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ท้องอืด ตับม้ามโต น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังคล้ำขึ้น ไม่มีแรง บางรายมีแผลที่ผิวหนัง และที่เยื่อบุรอบปากและจมูก ที่รอยกัดจะเป็นตุ่มแดงและแตกเป็นแผล ไม่เจ็บ อาจเป็นๆ หายๆ รักษานานหลายปี แผลมักขึ้นที่หน้าและใบหู โรคนี้มียารักษาหายขาด บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนเช่นปอดบวม ซูบซีด กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าอาจเสียชีวิตได้

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า การป้องกันโรคนี้คือไม่ให้ริ้นฝอยทรายกัด โดย 1.หากเข้าไปในพื้นที่ที่มีโรคระบาดขอให้สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด เช่นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้า ยัดปลายขากางเกงในรองเท้า ยัดปลายเสื้อในกางเกง เนื่องจากริ้นฝอยทรายมีปากสั้น ไม่สามารถกัดผ่านเสื้อผ้าได้ 2.ทายากันแมลงที่ผิวหนังนอกร่มผ้า 3.นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยยากันยุงและแมลง และเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด เรียบร้อย แต่หากกลับจากพื้นที่โรคระบาดภายใน 3-6 เดือนแล้วมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย  ท้องเดิน ท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางด้วย เพื่อการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422                
                                                                                            ****************************   14 กันยายน 2557



   
   


View 15    14/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ