นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.บ้านหัวคู จ.นครศรีธรรมราช ตรวจคุณภาพผักสดเครื่องเคียงตามร้านขายอาหาร ด้วยชุดตรวจสอบมาตรฐาน พบเชื้ออีโคไล ตัวการเกิดโรคอุจจาระร่วง ในแตงกวา กะหล่ำปลี ใบมันปู ถั่วงอก และได้คิดค้นกรรมวิธี  ล้างผักเครื่องเคียงด้วยน้ำใบบัวบก  พบว่าให้ผลดี  สามารถลดเชื้อได้ดีกว่าน้ำสะอาดถึงเท่าตัว เนื่องจากในใบบัวบกมีสารกลุ่มไตรเทอปินอยด์ กลัยโคไซด์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ช่วยป้องกันการเกิดอุจจาระร่วงได้

ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2557 ณ ศูนย์ประชุมและสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2557 นายสามารถ สุวรรณภักดี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)บ้านหัวคู อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง“ประสิทธิภาพผลการลดเชื้อ อีโคไล (Escherichia coli) ในผักเครื่องเคียงพร้อมบริโภค โดยการล้างด้วยน้ำบัวบก”เพื่อขยายผลแนะนำประชาชนทั่วไป ให้รู้วิธีการล้างผักก่อนบริโภคเพื่อความปลอดภัย ป้องกันโรคอุจจาระร่วง

นายสามารถ กล่าวว่า วิถีชีวิตการกินอยู่ของประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่านิยมรับประทานผักสดเป็นผักเครื่องเคียง ทั้งในครัวเรือน และร้านอาหารทั่วไป ผู้วิจัยจึงได้ทำการเก็บตัวอย่างผักสดเครื่องเคียงในร้านอาหาร เช่นแตงกวา ใบมันปู กะหล่ำปลี มาทดสอบด้วยชุดทดสอบน้ำยาตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้น (SI-2) ตามมาตรฐานของกรมอนามัย ผลปรากฏว่า ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย มากสุดในแตงกวาร้อยละ 94 กะหล่ำปลีร้อยละ 89 ใบมันปูและถั่วงอกพบร้อยละ 83 ซึ่งหากผู้ที่รับประทานผักที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนจำนวนมาก  หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อโรคเหล่านี้ จะไปเกาะติดกับผนังลำไส้จะสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

ผู้วิจัยจึงได้คิดค้นวิธีการล้างผักเครื่องเคียง เพื่อลดสิ่งปนเปื้อนในผักสด โดยใช้น้ำใบบัวบกนำมาล้างผักเครื่องเคียงที่กล่าวมา พบว่าการล้างด้วยน้ำใบบัวบก สามารถลดเชื้อที่ปนเปื้อนได้ดีกว่าน้ำสะอาดถึง 1.5 เท่า เนื่องจากในบัวบกมีสารกลุ่มไตรเทอปินอยด์ กลัยโคไซด์(Triterphnoid glycosides) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ดี สำหรับขั้นตอนการล้างผักเครื่องเคียงนั้น ทำได้ง่ายมาก โดยให้นำใบบัวบกที่หาได้ตามท้องถิ่น มาต้มน้ำสุกจากนั้นใช้กระชอนกรองใบบัวบกออก แล้วนำน้ำบัวบกที่กรองแล้ว  ไปล้างผักเครื่องเคียงอย่างน้อย 15 นาที แล้วกวนหลายๆครั้ง เมื่อล้างเสร็จแล้ว สามารถนำไปรับประทานได้อย่างปลอดภัย

นายสามารถกล่าวต่อไปว่า ผลการวิจัยนี้ จะนำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป เป็นการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้เหมาะกับวิถีชีวิตเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้ออีโคไล   ควบคู่กับการสร้างพฤติกรรมสุขลักษณะ ได้แก่ ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร ทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ทำให้สุกใหม่ และควรล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน เป็นต้น 

 

กันยายน 5/7*******************  24 กันยายน 2557



   
   


View 14    24/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ