กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ในปี 2556 มีจำนวนกว่า 50,000 คน เฉลี่ย 6 คนในทุก 1 ชั่วโมง ชี้เป็นภัยเงียบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมี 4 โรคใกล้ตัวเป็นตัวเร่ง คือ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และความอ้วน ย้ำเตือนผู้ที่ป่วยแล้วให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้ลงมือป้องกัน แค่เพียงปรับพฤติกรรมชีวิตตนเองคือ จัดเวลาออกกำลังกาย ชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน งดเหล้า งดบุหรี่ และลดอาหารรสมัน เค็ม หวาน เพิ่มกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารทุกมื้อ และตรวจสุขภาพทุกปี  
  
นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 29 กันยายนทุกปี สมาพันธ์หัวใจโลก กำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) เพื่อให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ตระหนักและเร่งป้องกันปัญหาโรคหัวใจ เนื่องจากเป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควร มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก องค์การอนามัยโลกรายงานปีละประมาณ 17 ล้านคน หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2573 หรือในอีก 16 ปี จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มเป็น 23 ล้านคน โดยในปีนี้ได้กำหนดคำขวัญการรณรงค์ ว่า “ประสานด้วยใจ เดินหน้าไปกับโลกสากล เพื่อยังผลให้ หัวใจแข็งแรง”(Join the global movement for better heart-healthy choices… wherever you live,work and play#heart choices)เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในหลายภาคส่วนทั่วโลก ก้าวสู่การเป็นสากล เพื่อให้ประชาชนในประเทศ มีทางเลือกที่ดีขึ้น ในการดูแลสุขภาพหัวใจ ในทุกๆสถานที่ ทั้งในที่อยู่อาศัย  ที่ทำงาน และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ  
 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่ในการส่งเลือดผ่านไปทางหลอดเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย รวมทั้งเลี้ยงที่หัวใจด้วย หากมีหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่ง มีปัญหาเชื่อมโยงกันคืออวัยวะปลายทางขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และหัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหัวใจวาย และเสียชีวิต ส่วนใหญ่การป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ไม่รู้ตัวมาก่อน สำหรับสถานการณ์โรคหัวใจของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในพ.ศ. 2556 มีผู้เสียชีวิต 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน อัตราการป่วยต่อประชากรทุก 1 แสนคน ในปี 2555 เท่ากับ 427 คน เพิ่มจากปี 2547 ซึ่งมีอัตราการป่วยเท่ากับ 185 คน 
 
กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขปัญหา เน้นให้ทุกจังหวัดรณรงค์ปรับพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ป้องกันการป่วย และจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยแล้ว โดยให้ทุกเขตสุขภาพตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ สามารถให้การรักษาทั้งด้วยยา การผ่าตัด  และขยายการให้ยาละลายลิ่มเลือดถึงโรงพยาบาลระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือขั้นต้นได้อย่างทันท่วงที ก่อนนำส่งรักษาต่อยังโรงพยาบาลใหญ่ เป็นการลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย และมีบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยประชาชนทุกพื้นที่ สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669  ตลอด 24 ชั่วโมง      
 
ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลงานการศึกษาวิจัยทั่วโลก ยืนยันตรงกันว่าสาเหตุการป่วยโรคหัวใจในขณะนี้ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผลมาจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง และมี 4 โรค เป็นตัวเร่งสำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ซึ่งล้วนเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ     โดยพฤติกรรมที่จัดว่าเสี่ยงที่จะก่อโรค4 โรค ได้ง่ายๆ ได้แก่ การรับประทานที่มากเกินพอดี ไม่สมดุล รับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม รับประทานผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย  การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   
 
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในกลุ่มผู้ที่ป่วยจาก 4 โรค ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน  ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการกินยาควบคุมอาการ การลดกินอาหารหวานจัด อาหารรสมันหรือเค็ม งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจรวมทั้งโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่มีโอกาสเกิดได้เช่นเช่นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคไตวาย ส่วนประชาชนที่ยังมีสุขภาพปกติ ขอให้เน้นการป้องกัน สามารถเริ่มปฏิบัติตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปจนถึงสูงอายุ คือ 1.ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที ซึ่งจะมีผลดี จะช่วยควบคุมน้ำหนัก สลายไขมันส่วนเกิน และสลายความเครียด ทำให้อารมณ์ดี  นอนหลับสนิท 2.ชั่งน้ำหนักตัวทุกวันตอนเช้าก่อนรับประทานอาหาร  เพื่อประเมินน้ำหนักตัวเอง 3.รับประทาน อาหารที่มีน้ำตาล เกลือ ไขมันต่ำ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม หรือให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ ตามสูตรผักครึ่งหนึ่ง อาหารครึ่งหนึ่ง 4.งดและลด การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ5.ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของระบบต่างๆในร่างกาย  หากประชาชนทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำได้  ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน และโรคหัวใจ จะน้อยลงหรือแทบไม่มีเลย    
 
ทั้งนี้สัญญานของอาการโรคหัวใจ ได้แก่1.เหนื่อย แน่นและเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด  2.นั่งพักแล้ว อาการที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น และเป็นมากขึ้น  3.กรณีในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว ใช้ยาอมใต้ลิ้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น และ 4.มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หมายเลข 1422
 
         ***********************************       29 กันยายน 2557


   
   


View 13    29/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ