รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้ อย.พัฒนาระบบสารสนเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ แก้ไขปัญหาการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ล่าช้า อนาคตเล็งตั้งหน่วยประเมินคำขอและหน่วยรับคำปรึกษา รวมทั้งถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานภายนอก เช่น หนังสือรับรองจีเอ็มพี การประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ เผยแต่ละปีมีผู้ประกอบการยื่นคำขอให้ อย.พิจารณาอนุญาต ปีละกว่า 48,000 รายการ สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จร้อยละ 88 ที่พบล่าช้า ส่วนใหญ่เป็นยาและชีววัตถุตัวใหม่ๆ รวมทั้งกลุ่มอาหารเสริม เพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณา
บ่ายวันนี้ (2 ตุลาคม 2557) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะที่ปรึกษา ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหาร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ และให้สัมภาษณ์ว่า อย.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเรื่องยา อาหาร เครื่องสำอาง ทำหน้าที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด หลังออกสู่ตลาด จัดการควบคุมป้องกันการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งควบคุมตัวยาและสารตั้งต้นที่เป็นวัตถุเสพติด จากการรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินงานรวมทั้งประเด็นปัญหาที่พบในการทำงานที่สำคัญคือ ความล่าช้าในการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์
ข้อมูลของ อย.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 –31 สิงหาคม 2557 มีปริมาณการยื่นคำขอเพื่อพิจารณาอนุญาตสถานที่ผลิต นำเข้า ผลิตภัณฑ์และโฆษณาอาหาร จำนวน 48,605 รายการ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ 42,673 รายการ คิดเป็นร้อยละ 88 นอกจากนี้ยังมีคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาและขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงตำรับยา เฉลี่ยปีละ 8,500 รายการ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ มีขั้นตอนในการทำงานกว่า 200 ขั้นตอน และเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 7-8 ฉบับ ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการพิจารณาให้รอบด้าน โดยเฉพาะยาและชีววัตถุตัวใหม่ๆ รวมทั้งกลุ่มอาหารเสริม ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญภายนอก อย.ในการพิจารณา
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาที่กล่าวมา แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ ในระยะสั้น 3 เดือน ได้เร่งรัดการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ปรับกระบวนการพิจารณาอนุญาตโดยพิจารณาตามความยากง่ายและความเสี่ยง กำหนดวันพิจารณาแล้วเสร็จให้ผู้ประกอบการทราบ รวมทั้งจะมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตไปในส่วนภูมิภาคที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องอาหารและยาแผนไทย เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา
ส่วนในระยะกลางภายใน 12 เดือน อย.มีแผนจะพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาอนุญาต จัดอบรมผู้ประกอบการถึงขั้นตอนการขอพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์ ส่วนในระยะยาวยาว ใน 1-2 ปี จะพัฒนาระบบสารสนเทศ (e-Submission) เพื่อให้งานพิจารณาอนุญาตมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการลงฐานข้อมูล เวลาการพิจารณา ให้งานพิจารณาอนุญาตไม่ล่าช้า จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ นอกจากนี้จะพิจารณาตั้งหน่วยประเมินคำขอและหน่วยรับคำปรึกษา รวมทั้งถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานภายนอก เช่น หนังสือรับรองจีเอ็มพี (GMP) การประเมินผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งแต่ละปีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้าผ่านทางด่านอาหารและยามีมูลค่านับแสนล้านบาท โดยปี 2556 มีมูลค่ากว่า 376,000 ล้านบาท มากสุดเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ยา
*************************** 2 ตุลาคม 2557