รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม มอบนโยบายให้เร่งรัดการผลิตยา เวชภัณฑ์ วัคซีนต่างๆ ให้เพียงพอใช้ดูแลประชาชนชาวไทย และมีสำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อความมั่นคง รวมทั้งการเร่งรัดการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต และโรงงานผลิตวัคซีนที่สระบุรี  ให้แล้วเสร็จทันเวลาที่กำหนดไว้ คาดว่าโรงงานผลิตยาที่รังสิตจะสามารถผลิตยาได้ต้นปี 2558 นี้

          วันนี้ (6 ตุลาคม 2557) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะที่ปรึกษา ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.)  และให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้ติดตามเรื่องหลักๆ ที่จะต้องเร่งรัดเรื่อง การผลิตยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ให้มีเพียงพอที่จะใช้กับประชาชนชาวไทย และมีสำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อความมั่นคงเช่น กรณีโรคระบาด สงคราม รวมทั้งเรื่องการก่อสร้างโรงงานผลิตยา โรงงานผลิตวัคซีน  ให้มีความชัดเจนในการกำหนดเวลาให้โรงงานเสร็จให้ทันเวลา   
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายที่มอบให้ อภ. ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การสร้างความมั่นใจในการบริหารงานขององค์การเภสัชกรรมว่า ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ จะต้องดำเนินการผลิตอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีปัญหาขาดแคลน เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือการป้องกันโรค    ซึ่งเรื่องนี้จะไปผูกพันกับโรงงานผลิตยาที่กำลังก่อสร้างที่รังสิต ซึ่งยังไม่เสร็จ  จึงได้ให้เร่งรัดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  คาดว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2558  จะเริ่มผลิตยาได้  
 
            
            
เรื่องที่2. คือการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่อ.ทับกวาง จ.สระบุรี    ได้มีการพูดคุยกันว่าจะช่วยกันเร่งรัดให้แล้วเสร็จ  โดยขณะนี้มีความชัดเจนในการปรับแบบต่างๆแล้ว  คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 โดยองค์การเภสัชกรรมเสนอขอใช้งบประมาณเพิ่มเติม 59 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนที่จะขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องเสนอตามขั้นตอนต่อไป     และเรื่องที่3.คือการผลิตยา/เวชภัณฑ์/วัคซีนร่วมกับบริษัทร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งต้องให้เกิดความมั่นใจว่าการผลิตยาของบริษัทร่วมลงทุนขององค์การเภสัชกรรมจะสามารถดำเนินการผลิตๆได้ต่อเนื่อง  ไม่มีปัญหาขาดแคลน ส่วนกรณีที่บริษัทร่วมทุนเสนอขอเพิ่มทุนนั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งต้องมีการหารือกันเป็นขั้นตอนต่อไป  
          ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ นั้น  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายข้อหนึ่งคือเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งจะมีการดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดโดยจะมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดูแลเรื่องการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ายาบางตัวผลิตไม่ทัน ต้องไปซื้อเอกชน  จนกระทบกับภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรมนั้น    ตนมองว่าภาพลักษณ์ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม จึงต้องดำเนินการผลิตยาให้ทันเวลา    
                 
                 
ด้านนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา  ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในวันนี้องค์การเภสัชกรรมได้นำเสนอในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น 3 เรื่องได้แก่  1.การขอคงสิทธิพิเศษตามพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการพัสดุฉบับใหม่  เพื่อให้การนำเข้าหรือผลิตยาบางราย เป็นไปอย่างคล่องตัวในกรณีต้องใช้ยาเร่งด่วนในภาวะฉุกเฉิน 2.การแก้ปัญหาโรงงานผลิตยาและวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม โดยโรงงานผลิตวัคซีน ได้เสนอขอเพิ่มงบประมาณ 59.3 ล้านบาท ที่ต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการใช้เงิน และขอให้กระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลเจรจาขอขยายความช่วยเหลือด้านเทคนิคการผลิตวัคซีนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและสถาบันคาเคทซูเกน(KAKETSUKEN) จนกว่าการก่อสร้างโรงงานจะแล้วเสร็จและผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้
                 
                 
          ส่วนโรงงานผลิตยาที่รังสิต  จะได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จและเปิดการผลิตได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ในระยะแรกจะผลิตได้ 2 สายพานการผลิตก่อน และในไตรมาสที่ 4 จะเปิดได้เต็มที่ทั้ง 4 สายพานการผลิต  ส่วนปัญหาวัตถุดิบในผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่ขาดแคลน จนทำให้การผลิตยาขาดความต่อเนื่องนั้น ได้ขอให้มีการเจรจาในระดับรัฐบาลเพื่อความสะดวกในการจัดหาวัตถุดิบ รวมทั้ง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณะกรรมการองค์การเภสัช-กรรม ได้แนะนำให้เพิ่มรายชื่อผู้จำหน่ายวัตถุดิบให้มากขึ้น    รวมทั้งให้เตรียมผลิตสำรองให้เพียงพอต่อการใช้ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3.การแก้ไขปัญหาบริษัทร่วมทุน ทั้งการขอเพิ่มทุน การแก้ไขข้อกำจัดในการสั่งซื้อวัคซีนนั้น  จะได้มีการประชุมหารือกันในรายละเอียดต่อไป
****************************** 6 ตุลาคม 2557


   
   


View 14    06/10/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ