“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข หนุนพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร แหล่งมอมเมาเยาวชนและนำไปสู่การทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม เสียสุขภาพและถูกคุกคามทางเพศ เผยมีนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 2.5 แสนคน พร้อมเฝ้าระวังอุตสาหกรรมสุราที่ขาดจริยธรรม เช่น โฆษณาพลิกแพลง ลดแลกแจกแถม เพิ่มบทลงโทษหากมีการละเมิดกฎหมาย
วันนี้ (17 ตุลาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เรียกร้องให้มีการควบคุมร้านเหล้าปั่นและร้านเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร ซึ่งพบว่ามีร้านเหล้ารอบสถานศึกษาเฉลี่ย 57 ร้านต่อ 1 ตารางกิโลเมตร มีทั้งร้านที่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่น่าห่วงคือแทบทุกร้านมีการจัดโปรโมชั่นเรียกลูกค้าที่เป็นนิสิตนักศึกษา ซึ่งจากสถิติแต่ละปีพบว่ามีนักดื่มหน้าใหม่มากกว่า 2.5 แสนคน เนื่องจากร้านเหล้าเข้าถึงได้ง่าย อยู่ใกล้หอพักและสถานศึกษา สภาพแวดล้อมเช่นนี้เป็นการมอมเมาเยาวชนและนำไปสู่การทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม เสียการเรียน เสียสุขภาพ และถูกคุกคามทางเพศ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนไทย ขณะนี้ มีความน่าเป็นห่วงและน่ากังวล เป็นเรื่องที่สำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขต้องให้การดูแลด้วยเช่นกัน โดยจะผลักดันกฎหมายควบคุมการขายเหล้าปั่นและร้านเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ทางด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความคืบหน้าของกฎหมายควบคุมการแก้ไขบางมาตราของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้แล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนนำเข้าคณะรัฐมนตรี และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณา จากนั้นก็สามารถส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง เช่น การเผยแพร่โฆษณาภาพลักษณ์ที่มีรูปแบบพลิกแพลง นำไปสู่การตลาด เพื่อต้องการให้เยาวชนสนใจและรับรู้เครื่องหมายเครื่องดื่มนั้นๆ จึงต้องเฝ้าระวังมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า การตลาดของอุตสาหกรรมสุราบางชนิด ขาดจริยธรรม โดยจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์นั้นๆ มีการแจกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน บางที่ก็ซ่อนไว้ใต้เคาน์เตอร์ รวมถึงการลดแลกแจกแถม ดึงดูดให้เยาวชนสนใจมากยิ่งขึ้น เป็นการกระทำที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย รวมทั้งการโฆษณาแฝงในลักษณะต่างๆ การจัดดนตรีหรือคอนเสิร์ตที่เชิญชวนเยาวชนไปร่วมกิจกรรม ซึ่งแท้จริงแล้วเบื้องหลังคือการส่งเสริมให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการขายสุรา เบียร์ของร้านค้าสะดวกซื้อให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี
นายแพทย์ศิริวัฒน์กล่าวต่อว่า ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือการจัดโซนนิ่ง พบว่าหน้ารั้วมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มีการจำหน่ายสุราในเขตใกล้สถานศึกษา ทำให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อร้านเหล้า โดยกระทรวงสาธารณสุขเคยขอความร่วมมือจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งได้รับความร่วมมือเช่นกัน แต่ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากข้อกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นการแก้ไข้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใกล้แล้วเสร็จเพื่อที่จะเสนอไปเข้าสู่ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ อาจมีการขอแก้ไขในมาตราต่างๆ รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษหากมีการละเมิดกฎหมายต่อไป
************* 17 ตุลาคม 2557