กระทรวงสาธารณสุข คงมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและเมอร์ส-โควีจากประเทศระบาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับมือตลอดเวลา ผลการเฝ้าระวังยังไม่พบผู้ป่วยทั้ง 2 โรคในประเทศ โดยจะจัดส่งคู่มือปฏิบัติงานในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 4,000 เล่ม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แนะประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดหากมีไข้ให้รีบพบแพทย์หรือโทรแจ้งหมายเลขสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

          นายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า องค์การอนามัยโลกรายงานจนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ใน 5 ประเทศอาฟริกาตะวันตก ได้แก่ ไลบีเรีย กินี เซเนกัล ไนจีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน มีผู้ป่วย 9,191 ราย เสียชีวิต 4,546 ราย และยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลานอกทวีปอาฟริกาตะวันตก ในประเทศสเปนและสหรัฐอเมริกาด้วย มีผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 9 ราย แต่ยังสามารถควบคุมได้  โดยขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ประเทศเซเนกัลและไนจีเรีย เป็นประเทศที่พ้นจากการเฝ้าระวังโรคอีโบลา เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในรอบ 6 สัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุข  จะดำเนินการพิจารณา 2 ประเทศดังกล่าวพ้นจากเขตติดโรคตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ จะยังคงเข้มงวดมาตรการการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมากจากพื้นที่ระบาด ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ รวมทั้งในชุมชนที่มีชาวต่างชาติในพื้นที่ระบาดอาศัยอยู่ในไทยทุกวัน จนถึงวันนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ และจะประเมินติดตามสถานการณ์เพื่อปรับแผนให้สอดคล้องกับความจำเป็น

          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมพร้อมสถานพยาบาลที่จะให้การดูแลกรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยหรือติดเชื้อไวรัสอีโบลาได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลศูนย์ในต่างจังหวัด 15 แห่ง และในกทม. 5 แห่ง  ซึ่งจะมีห้องแยกดูแลผู้ป่วยและห้องแยกสำหรับตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรค และจะขยายไปในโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจนครบ 30 แห่งจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคมนี้ โดยหากมีผู้ป่วยสงสัยจะสามารถตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานผลได้ใน 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้ฝึกซ้อมความพร้อมของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการติดเชื้อ โดยได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน รวมถึงการกำจัดขยะติดเชื้อแก่บุคลากรในโรงพยาบาล 4,000 เล่มแจกให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และจะเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

          สำหรับสถานการณ์โรคเมอร์ส-โควี หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2012 ในต่างประเทศจนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2557 มีผู้ป่วยยืนยัน 776 ราย เสียชีวิต 326 ราย คิดอัตราป่วยตายร้อยละ 42 ซึ่งเฉพาะเดือนกันยายนถึงตุลาคมพบผู้ป่วย 23 ราย ผลการเฝ้าระวังในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากการร่วมพิธีฮัจญ์จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ใน 50 จังหวัด ประมาณ 10,400 คน พบผู้ที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เข้าข่ายเฝ้าระวังรวม 18 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ ยังไม่พบรายใดติดเชื้อเมอร์ส-โควี โดยจะติดตามเฝ้าระวังอาการผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเวลา 15 วัน

          ทั้งนี้ ทั้งโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและเมอร์ส-โควี เป็นโรคติดต่ออันตรายยังไม่มีในประเทศไทย จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด หากมีไข้ต้องรีบพบแพทย์ทันทีหรือโทรปรึกษาสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

 **************************  22 ตุลาคม 2557



   
   


View 14    22/10/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ