“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ มีมติเร่งสร้างระบบการดูแลฉุกเฉินผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการเสี่ยงอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง ความเท่าเทียมสิทธิการรักษา ระบบฟื้นฟูรองรับผู้ป่วยหลังการรักษาในกรณีที่ไม่มีญาติ และปรับปรุงพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 เพิ่มการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตด้วย ขณะนี้พบประชากรร้อยละ 1 หรือ 600,000 คน ป่วยเป็นโรคจิต ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 มีโอกาสเสี่ยงก่อความรุนแรงต่อสังคมได้
วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2557) ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ สุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557 ว่า รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างสุขภาพและสุขภาวะ ของบุคคล ครอบครัวและชุมชน ทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ เน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต เป็นเรื่องใกล้ตัว มีความสำคัญ สามารถเกิดได้กับคนทั่วไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การดำเนินงานด้านนี้ จะต้องบูรณาการการทำงานระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำกฎหมายคือพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน วัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองสิทธิการรักษาและสิทธิมนุษยชนของผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต และป้องกันอันตรายให้สังคม
ที่ประชุมในวันนี้ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ให้ครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตทั้งระบบ ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การนำส่งผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการ คลุ้มคลั่งเสี่ยงเกิดอันตรายและต้องได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งพบปีละ 10,000 รายหรือประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมดที่มี 1.4 ล้านครั้ง ได้ให้กรมสุขภาพจิตร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดระบบการนำส่งผู้ป่วยดังกล่าวผ่านระบบ 1669 โดยจัดหลักสูตรฝึกอบรมและจัดทำคู่มือเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีความรู้ในการนำส่งผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน รวมทั้งสถานพยาบาลที่จะดูแลรักษา โดยให้พิจารณาจัดหางบประมาณสนับสนุนการนำส่งผู้ป่วยด้วย
2.ผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมของสิทธิในการบำบัดรักษา ขณะนี้ยังมีประชาชนที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาทั้งโรคทางกายและจิต ประมาณ 4 แสนคน เช่น ผู้ไม่มีบัตรประชาชน รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่ถูกทอดทิ้ง โดยข้อมูลปี 2556 พบมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต 17,356 ราย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 820 บาทต่อคนต่อครั้ง และนอนรักษาในโรงพยาบาล 561 ราย เฉลี่ย 409 วันต่อคน และอยู่ในโรงพยาบาลนานสูงสุดถึง 5,180 วัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 92,480 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหางบประมาณดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ รวมทั้งให้กรมสุขภาพจิต จัดทำแนวทางการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช เน้นการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถอยู่ในชุมชนได้
3.การจัดระบบการดูแลต่อเนื่องหลังผ่านการบำบัดรักษากลับสู่สังคม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ ซึ่งพบทั้งคนไทยและต่างชาติ ได้มอบกระทรวงแรงงานจัดหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะทางอาชีพที่เหมาะสมกับผู้ป่วยจิตเวช กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสถานที่ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย และสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการร่วมดูแลผู้ป่วย และ4.การปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตราต่างๆ ในพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และกฎหมายลูก เพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น สิทธิผู้ป่วยในการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ข้อยกเว้นในการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยกรณีพบว่าจะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น โดยให้เพิ่มหมวดการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ สอดคล้องนโยบายรัฐบาลที่เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว ได้มอบหมายให้คณะทำงานจัดทำรายละเอียดทั้ง 4 ประเด็น และเสนอความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนมกราคม 2558
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการได้หารือการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งระบบ ตั้งแต่การรักษา จนถึงการฟื้นฟูให้ผู้ป่วยมีอาชีพรองรับ การปรับปรุงกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการทำงาน ที่ต้องรับช่วงต่อกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งผู้ป่วยไร้ญาติ ไม่มีครอบครัว ไม่มีบ้าน ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหลังบำบัดแล้วกลับมาเกิดปัญหาซับซ้อนรุนแรงขึ้น จึงต้องสร้างระบบดูแลต่อเนื่องร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มหาดไทย และชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งการจัดงบประมาณ และกำลังคนในการทำงานด้านนี้ โดยเฉพาะการทำงานในระดับจังหวัด จะต้องมีคณะกรรมการดูแลขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม ให้กระทรวงสาธารณสุข จัดโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งให้ สปสช.พิจารณาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของการเบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา
ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คาดว่าผู้ป่วยสุขภาพจิตมีประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 600,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา และมีงานวิจัยพบว่าร้อยละ 20 ที่มีโอกาสก่อความรุนแรงได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ประสาทหลอน หูแว่ว หรือเห็นภาพต่างๆ ว่าจะถูกทำร้ายจึงตอบโต้ คนกลุ่มนี้ ควรได้รับการดูแลรักษาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสังคม ซึ่งตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้ประชาชนที่สงสัยพบเห็นผู้ป่วยทางจิต ที่มีอาการไม่น่าไว้วางใจ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางสุขภาพจิตซึ่งทั่วประเทศมีจำนวน 6,590 คน รับตัวไปรักษาดูแลได้ตามกฎหมาย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้สาขาจิตเวช เป็น 1 ใน 10 สาขา การพัฒนาระบบบริการตามนโยบายระบบบริการที่ดีขึ้น (Better Service) เพื่อกระจายบริการให้ประชาชน เข้าถึงใกล้บ้านขึ้น มีคุณภาพ และเป็นธรรมในทุกที่ รับยาได้ใกล้บ้าน รวมทั้งการทำงานเชิงรุกลงไปในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยไม่ให้เกิดอาการซ้ำ นอกจากนี้ ได้พัฒนาแบบคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคจิต และจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วย มีระบบติดตาม เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน รัฐ เอกชน เพื่อรู้ความเสี่ยงเกิดความรุนแรง นำมารับการรักษาทันท่วงที ลดการกลับเป็นซ้ำ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคจิตเวชมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเริ่มมีอาการ อาการแสดงยังไม่ชัดเจน แต่เริ่มผิดปกติ เป็นบางครั้ง เช่น การฟุ้งซ่าน นอนไม่หลับ เดินไปเดินมา แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ หรือความสามารถทางการทำงานลดลง มีพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิม ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่อาบน้ำ เก็บตัว แยกตัว พูดแปลกๆ ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี หากพบเร็ว และได้รับการรักษาโดยเร็ว ก็สามารถหายได้ตามปกติ และกลุ่มเรื้อรัง คือ รักษาหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งอาการมักรุนแรงขึ้น คนในครอบครัวหรือผู้ป่วยเองต้องสังเกตอาการผิดปกติ และรีบพากลับไปรักษา รวมทั้งหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ เพื่อให้รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น
************************** 5 พฤศจิกายน 2557