“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุข ร่วมกับสภากาชาดไทย จัดโครงการพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา ระดมเงินบริจาคจากคนไทย ส่งไปช่วย 3 ประเทศอาฟริกาตะวันตก เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาอย่างเร่งด่วน ทางบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และกรุงเทพ สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนถึง 31 ธันวาคม 2557
วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2557) ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ กทม. นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวร่วมกับนายสวนิต คงสิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และรศ.นายแพทย์โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย จัดโครงการรวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา ระดมเงินบริจาคจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย ส่งไปช่วยเหลือ 3 ประเทศอาฟริกาตะวันตกที่มีการระบาดหนักของโรคอีโบลา เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่ประเทศต้นทางอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งระบบการป้องกันโรคในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 14 ตุลาคม 2557 ในการระดมความร่วมมือครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สถานบริการทุกระดับและหน่วยบริหารในสังกัดทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 แห่ง รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินตามศรัทธา ทางบัญชีกระแสรายวัน สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชื่อบัญชี “พลังน้ำใจเพื่อหยุดยั้งอีโบลา” 3 ธนาคาร ได้แก่ 1.ไทยพาณิชย์ เลขที่ 468-0-41667-5 2.กสิกรไทย เลขที่ 623-1-00234-9 และ3.กรุงเทพ เลขที่ 913-3-50021-6 จนถึง 31 ธันวาคม 2557 ตั้งเป้า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 30,000 ล้านบาท
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคอีโบลา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ล่าสุดตั้งแต่กุมภาพันธ์ – 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจาก 6 ประเทศภูมิภาคแอฟริกา สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 13,042 ราย เสียชีวิต 4,818 ราย ส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตรายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ไทยได้ใช้ 3 มาตรการหลักดำเนินงานตามแนวทางองค์การอนามัยโลก คือการป้องกัน การตรวจจับโรค และการดูแลรักษากรณีพบผู้ป่วยหรือสงสัย ในส่วนของการป้องกัน ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อบริหารจัดการแบบบูรณาการ ประชุมทุกสัปดาห์ และจัดระบบเฝ้าระวัง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ทั้งทางเครื่องบิน เรือ และทางบกที่ด่านชายแดน ติดตามอาการทุกรายจนครบ 21 วัน 2.ผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน และ3.ในชุมชนที่มีชาวต่างชาติจากพื้นที่ระบาดมาอาศัยอยู่ ที่จ.จันทบุรีและเขตบางรัก กทม. และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ผลการเฝ้าระวังกว่า 5 เดือน ยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา
สำหรับมาตรการตรวจจับโรค เน้นการวินิจฉัยที่แม่นยำรวดเร็ว โดยพัฒนาระบบการตรวจชันสูตรเชื้อทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 32 แห่ง และสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถตรวจยืนยันเชื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง และมาตรการด้านการดูแลรักษาเมื่อมีผู้สงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้ให้โรงพยาบาลใน 30 จังหวัดที่มีด่านเข้าออกประเทศ จัดห้องแยกสำหรับผู้ป่วยตามแนวทางมาตรฐานและควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ในโรงพยาบาลทั่วไปอย่างน้อย 1 ห้อง และในโรงพยาบาลศูนย์อย่างน้อย 2 ห้อง ตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่แพทย์พยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง จัดหาชุดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง กล่าวได้ว่าขณะนี้ไทยมีความพร้อม และในวันพรุ่งนี้ จะประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 12 เขตทั่วประเทศและกทม. เพื่อติดตามประเมินระบบความพร้อมตอบโต้สถานการณ์โรคนี้
********************************* 6 พฤศจิกายน 2557