รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมการประชุมแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการโลก ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งขณะนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทั้งภาวะโภชนาการขาดและเกิน พบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากการขาดอาหารถึงปีละเกือบ 5 ล้านคน เด็กก่อนวัยเรียน 20 ล้านคนขาดอาหารแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่อยู่ในอาฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีเด็ก 311 ล้านคนเตี้ยและผอมเพราะโภชนาการขาด  ขณะที่ผู้ใหญ่อีกกว่า 500 ล้านคนอ้วน เป็นระเบิดเวลาการป่วยโรคเรื้อรัง เพิ่มภาระโลกทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ

          ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2557 จะนำคณะเดินทางไปร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการของโลกครั้งที่ 2 ในเรื่อง โภชนาการที่ดีขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า : Better nutrition for better lives” ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี จัดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยจะมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ของกระทรวงทั้งด้านเกษตรและสาธารณสุขทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางพัฒนานโยบายและกรอบการดำเนินการด้านโภชนาการระดับโลกของช่วงศตวรรษที่ 21 บรรลุเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติภายใน พ.ศ. 2568

          ขณะนี้ ทั่วโลกประสบปัญหาโภชนาการ ทั้งขาดแคลนอาหารและบริโภคเกิน พบว่าในแต่ละปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตจากการขาดสารอาหารประมาณ 5 ล้านคน ในกลุ่มเด็กวัยก่อนเรียนอายุต่ำกว่า 3 ปีมีภาวะขาดอาหารแบบเฉียบพลันระดับรุนแรงถึง 20 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในอาฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีเด็กที่ขาดสารอาหาร ทำให้ร่างกายเตี้ย น้ำหนักตัวน้อย และซูบผอมรวม 311 ล้านคนทั่วโลก ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาปีละ 1-2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันพบประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกประสบปัญหาอ้วนมากกว่า 500 ล้านคน เกิดจากการใช้ชีวิตไม่สมดุล ในการกินอาหารและการออกกำลังกาย ถือเป็นระเบิดเวลาของการป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สำคัญ คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในระดับโลก

          ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ จะเน้นการแก้ไขปัญหาในกลุ่มสตรี แม่และเด็ก และเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน พื้นที่ขาดแคลน เปราะบาง และในภาวะฉุกเฉิน เช่นภาวะสงคราม และโรคระบาด เช่นอีโบลา โดยจะเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ ความปลอดภัยอาหาร คุณค่าโภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ในส่วนประเทศไทย ขณะนี้ พบว่าจำนวนเด็กขาดสารอาหารลดลง แต่พบเด็กวัยเรียนอ้วนร้อยละ 9.5 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงมือผู้บริโภค โดยมีคณะกรรมการอาหารระดับชาติ เป็นกลไกผลักดันการบูรณาการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมครั้งนี้ ไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีโลก และร่วมกำหนดยุทธศาสตร์กับนานาชาติในการประกาศปฏิญญากรุงโรมเรื่องโภชนาการ พัฒนาแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการของโลก เนื่องจากอาหารเป็น 1 ใน 4 ปัจจัยในการดำรงชีวิต และการมีสุขภาพดีขึ้นอยู่กับอาหารที่บริโภคด้วย



   
   


View 17    18/11/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ