กระทรวงสาธารณสุข เผยในรอบ 10 ปี พบเด็กและผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงเกือบ 2 แสนราย เฉลี่ยวันละ 50 ราย ส่วนใหญ่จะถูกทำร้ายร่างกายและถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ในปี 2558 นี้ จัดทำโครงการนำร่องเฝ้าระวังและคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อป้องกัน 3 ปัญหาหลัก คือความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ในระดับหมู่บ้าน ชุมชนเขตเมือง ที่จังหวัดชุมพรและระยอง เตรียมขยายบริการลงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ แนะหากพบเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง โทรแจ้ง 1669 หรือ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายนทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักและเร่งป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในส่วนของไทย คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งศูนย์ตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรง ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดของรัฐตั้งแต่ปี 2543 ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงของเด็กและสตรี ประกอบด้วย การป้องกันและการเฝ้าระวังปัญหาฯ การพัฒนาระบบบริการช่วยเหลือให้มีคุณภาพครอบคลุมทั่วประเทศ และการเยียวยาฟื้นฟูเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับเพื่อให้การดูแลเด็กและสตรี รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ อย่างครบวงจรเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล และการประสานหน่วยงานช่วยเหลือด้านกฎหมายและด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆ ที่จำเป็น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ บูรณาการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพ ปัจจุบันได้ตั้งศูนย์พึ่งได้แล้ว 829 แห่ง อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป 95 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 734 แห่ง ในปี 2558 นี้ ได้ปรับงานเป็นเชิงรุกเน้นป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเพื่อลดความสูญเสีย โดยจัดโครงการนำร่องศึกษาระบบในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใน 2จังหวัดคือ ระยองและชุมพร จังหวัดละ 2 อำเภอ ในเขตเมืองและชนบท จะมีการคัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 3 เรื่องได้แก่ ความรุนแรง ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการถูกทอดทิ้ง เพื่อวางแผนดูแลร่วมกับสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และขยายลงสู่รพ.สต.ที่มีความพร้อมต่อไป
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2556 ศูนย์พึ่งได้ ได้ให้บริการเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง ทั้งหมด 182,267 ราย เป็นเด็ก 98,211 ราย สตรี 84,026 ราย เฉลี่ยวันละ 50 ราย ปัญหาความรุนแรงที่เกิดในกลุ่มเด็กอันดับ 1 คือถูกล่วงละเมิดทางเพศ รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่นแฟน รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสิ่งแวดล้อมเช่นการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด สื่อลามก เป็นต้น ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี ปัญหาอันดับ 1 ที่พบได้แก่ การทำร้ายร่างกาย รองลงมาคือถูกกระทำทางเพศ ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุดร้อยละ 53 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาทกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันแก้ไขป้องกัน หากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ผู้ถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่รู้จักหรือไม่ก็ตาม ขอให้แจ้ง 1669 หรือ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขอรับบริการได้ที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 829 แห่ง
ทั้งนี้ ตามนโยบายการดูแลศูนย์ช่วยเหลือสังคมของรัฐบาล ได้มอบให้ 4 กระทรวงหลักดำเนินการ ดังนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ รับผิดชอบเรื่องการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบเรื่องการกระทำรุนแรงทางเพศ รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อม/คุณแม่วัยใส กระทรวงแรงงานรับผิดชอบเรื่องการใช้แรงงานเด็ก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบดูแลเรื่องการค้ามนุษย์
***************** 25 พฤศจิกายน 2557