รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงไม่มีข้อเสนอให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุกครั้งที่ไปรักษา ยันรัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่าย และสนับสนุนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน แต่ข้อเสนอตั้งกองทุนร่วมจ่าย เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรับภาระ ย้ำงบประมาณภาษีของไทยยังเพียงพอสำหรับสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน ชี้ค่าใช้จ่ายสุขภาพปัจจุบันอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น และอีก10 ปี ก็ยังไม่ถือว่าเป็นภาระ เน้นปฏิรูประบบสุขภาพสร้างหมอครอบครัวทั่วไทย
วันนี้(27 พฤศจิกายน 2557)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่มีข่าวว่าในการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข วานนี้(26 พฤศจิกายน)ว่าตนได้เสนอให้มีการตั้งกองทุนร่วมจ่ายแทนประชาชนนั้น ขอชี้แจงว่า ข้อเสนอดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ข้อเสนอให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือร่วมจ่ายทุกครั้งเมื่อไปรับการรักษาพยาบาล แต่เสนอให้มีการตั้งกองทุนร่วมจ่ายแทนประชาชนขึ้นมา เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนต้องมารับภาระร่วมจ่าย ณ จุดให้บริการ ทั้งนี้ขอยืนยันว่า รัฐบาลนี้สนับสนุนการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนจน โดยท่านนายกรัฐมนตรีก็ย้ำในเรื่องนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย
ที่ผ่านมา ผลจากการที่ประชาชนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้ช่วยให้คนไทยกว่า 1 แสนครัวเรือน ไม่ต้องล้มละลายจากภาระค่ารักษาพยาบาล ซึ่งผลการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากค่ารักษาพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยก่อนมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีครัวเรือนที่ยากจนจากภาระค่ารักษาถึง 120,100 ครัวเรือน แต่ในปี2552 ลดลงอยู่ที่ 39,750 ครัวเรือน
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน ที่มีหลายฝ่ายกังวลว่า งบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ เพราะกองทุนหลักประกันสุขภาพมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในทุกปี และอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในอนาคตนั้น ประเด็นนี้ต้องขอบคุณในความห่วงใย แต่รัฐบาลนี้ขอยืนยันว่า ไทยยังสามารถใช้เงินภาษีสำหรับสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้โดยไม่เป็นภาระต่อประเทศ ซึ่งรายจ่ายด้านสุขภาพของไทยยังอยู่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมาก ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยคิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ก็พบว่าอย่างน้อยในอีก 10 ปีข้างหน้า ระดับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยก็ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งนับว่ายังไม่สูงเมื่อเทียบกับฐานะทางเศรษฐกิจของไทย
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงต้องลงทุนเพื่อเพิ่มพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐ และเพิ่มอัตราการซื้อบริการสาธารณสุข รวมทั้งปรับฐานให้กับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระต่อการเงินการคลังของประเทศ
“ส่วนประเด็นร่วมจ่าย ณ จุดบริการนั้น ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ผมขอยืนยันตรงนี้ว่า เราไม่มีนโยบายให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายทุกครั้งเมื่อมารับการรักษาพยาบาล การร่วมจ่ายแบบนี้ถือเป็นการลงโทษประชาชน โดยเฉพาะคนจนและคนที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้ควรจะได้ประโยชน์จากการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข อันเป็นหลักการสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐจัดให้ประชาชน ส่วนข้อกังวลเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอนั้น อาจจะแก้ไขได้โดยการให้คนมีฐานะดีจ่ายเงินเข้ากองทุน ซึ่งอาจจะเรียกว่า จ่ายเบี้ยประกันเข้ากองทุน แต่ต้องไม่ใช่การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการคือ การส่งเสริมบริการสุขภาพระบบปฐมภูมิ โดยการสร้างรูปแบบให้บริการแบบหมอประจำครอบครัวเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนไทยทุกคน
************************** 27 พฤศจิกายน 2557
View 14
27/11/2557
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ