“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยตาบอดสาเหตุจากต้อกระจกร้อยละ 70 และพบตาต้อกระจกชนิดบอดเกิดใหม่ปีละ 60,000 ราย เร่งคัดกรองสายตาผู้สูงอายุ จัดบริการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมให้รวดเร็วขึ้น เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ตั้งเป้าปีงบประมาณ 2558 ผ่าตัดตาต้อกระจกชนิดบอดทั่วประเทศ 60,000 ราย (ตา) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557
วันนี้ (4 ธันวาคม 2557) นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดโครงการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา มหาราชภายใต้ โครงการ “สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” ที่โรงพยาบาลปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ พอ.สว. เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 และเพื่อลดอัตราความชุกตาบอดจากต้อกระจก เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระการเป็นผู้พึ่งพิงในผู้สูงอายุ
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาตาบอดและสายตาเลือนรางเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศต่างๆทั่วโลก ประชากรตาบอดจะทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจ เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีประชากรตาบอด 39 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาร้อยละ 90 โดยสาเหตุร้อยละ 80 สามารถป้องกันได้และหากไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไข คาดว่าคนตาบอดจะเพิ่มขึ้นเป็น 76 ล้านคนในปี พ.ศ.2563 และWHO ได้กำหนดวิสัยทัศน์ : vision 2020 : The Right to Sigh by The Year 2020 เพื่อให้ประเทศสมาชิกตระหนักและเร่งแก้ปัญหา
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากการสำรวจของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ในปี 2556 พบว่าคนไทยมีความชุกตาบอดร้อยละ 0.6 สาเหตุที่ทำให้ตาบอดมากที่สุดเกิดจากต้อกระจก ร้อยละ 70 โดยพบต้อกระจกชนิดตาบอดตกค้าง ประมาณ 70,000 ราย และต้อกระจกชนิดบอดเกิดใหม่ปีละ 60,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้รับผิดชอบสุขภาวะของประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบปัญหาตาบอดจากต้อกระจก ตั้งเป้าลดอัตราความชุกของตาบอดให้ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก และกำหนดเป็นนโยบายเร่งรัดขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เห็นผลในระยะสั้น ดำเนินการได้ทันทีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ได้จัดทำโครงการ “สาธารณสุขรวมใจ มอบโลกสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกให้เข้าถึงบริการและได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมให้กับมามองเห็นได้เหมือนเดิม
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มอบหมายให้ 12 เขตบริการสุขภาพ ค้นหาผู้ป่วยตาต้อกระจกโดยคัดกรองสายตาผู้สูงอายุครอบคลุมร้อยละ 75 ภายในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อขึ้นทะเบียนและติดตามผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด และจะจัดบริการผ่าตัดให้รวดเร็วขึ้น โดยต้อกระจกชนิดบอดภายใน 30 วัน และต้อกระจกชนิดสายตาเลือนรางภายใน 90 วัน ตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2558 จะผ่าตัดตาต้อกระจกชนิดบอด ทั่วประเทศ 60,000 ราย (ตา) ทั้งนี้ การดำเนินการขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจก จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งต้องสร้างปัจจัยเอื้อต่อความสำเร็จในการดำเนินงานให้แก่หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เช่น ระบบการเงินการคลัง ระบบการติดตามและรายงานผลการดำเนินงานการพัฒนาบุคลากร การจัดทีมเสริมช่วยผ่าตัดในพื้นที่ที่ขาดแคลนจักษุแพทย์และเครื่องมือผ่าตัด เป็นต้น
สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดใน 3 จังหวัดชายแดน ตั้งเป้าดำเนินการ จำนวน 200 ราย ที่จังหวัดปัตตานี 100 ราย ที่เหลือจะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยจะเร่งรัดการคัดกรอง ขึ้นทะเบียนและผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆตั้งแต่หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี กาชาดจังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และจากหน่วยงานในส่วนกลาง คือ กรมการแพทย์ ได้จัดทีมเสริมมาช่วยผ่าตัดต้อกระจกในพื้นที่
******************************* 4 ธันวาคม 2557