“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบบริการทุกเขตสุขภาพ ล่าสุดพัฒนาศักยภาพศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลตรังให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจได้ครบวงจรเทียบเท่ามาตรฐานโรงพยาบาลในส่วนกลาง ทั้งรักษาด้วยยา ผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจ ถ่างขยายหลอดเลือด ตั้งแต่เมษายน 2557 ให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจไปแล้วกว่า 300 ราย
วันนี้ (11 ธันวาคม 2557) ที่โรงพยาบาลตรัง จ.ตรัง นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เป็นประธานเปิดศูนย์หัวใจโรงพยาบาลตรัง และรับมอบเงินบริจาคจากมูลนิธิเอกชน และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เพื่อใช้จัดหาทรัพยากรในการพัฒนาศักยภาพของศูนย์หัวใจอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาโรคหัวใจนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจถึง 7.2 ล้านคน ในส่วนของประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดสมอง ปีละประมาณ 37,000 ราย และจากสถิติตั้งแต่ปี 2548- 2552 มีคนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลวันละ 1,185 ราย ในจำนวนนี้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 480 ราย และมีผู้เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน
การพัฒนาให้ทุกเขตสุขภาพมีศูนย์โรคหัวใจที่มีศักยภาพเทียบเท่ากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือสถาบันเฉพาะทางโรคหัวใจที่อยู่ในส่วนกลาง จึงเป็นการตอบโจทย์ของผู้ป่วยโรคหัวใจที่อยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีปัญหาทั้งการเข้าถึงบริการและใช้ระยะเวลาในการรอคอยการรักษาหรือการผ่าตัดนาน เพราะ จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพมาตรฐานในสถานบริการใกล้บ้านอย่างเท่าเทียมกันในทุกเขตสุขภาพ ไม่ต้องลำบากเดินทางไปรักษาถึงส่วนกลาง ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญจะช่วยลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดของผู้ป่วยโรคหัวใจ ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมาก
ด้านนายแพทย์ชัยยุทธ ศักดิ์ศรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 549 เตียง แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมารับบริการกว่า 3,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเดิมสามารถให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเพียงอย่างเดียว หากผู้ป่วยมีปัญหาหรือมีข้อจำกัดในการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตระหว่างทาง ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยยังต้องประสบปัญหาในการรอคิวรับการรักษานาน อาทิ รอคิวตรวจสวนหัวใจประมาณ 3 เดือน รอคิวผ่าตัดหัวใจประมาณ 3-5 ปี ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการพัฒนาศักยภาพศูนย์โรคหัวใจให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่เมษายน 2557 จนถึงขณะนี้ ได้ทำการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดไปแล้ว 41 ราย ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ 206 ราย ขยายหลอดเลือดหัวใจ 86 ราย และใส่เครื่องพยุงหัวใจ 28 ราย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยในจังหวัดตรังและใกล้เคียงได้เข้าถึงบริการมากขึ้น และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้
************************** 11 ธันวาคม 2557