นายกรัฐมนตรี เปิดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เสริมสร้างความเข้มแข็ง ผนึกกำลังรับมือภัยคุกคามจากเชื้อไวรัสอีโบลา สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในภูมิภาค ด้านผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ถึง 4 ปัจจัยที่ส่งผลให้ประเทศไนจีเรียและเซเนกัล ควบคุมป้องกันโรคอีโบลาสำเร็จ คือ การเตรียมความพร้อมการรับมือที่ดี มาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ นโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาล และความร่วมมือของชุมชน สามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคนี้ ส่วนสถานการณ์โรคอีโบลาล่าสุดเมื่อ10 ธันวาคม ยอดสะสมผู้ป่วย 17,942 ราย เสียชีวิต 6,388 ราย อัตราเสียชีวิตร้อยละ 35 ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในภูมิภาคอาเซียน
วันนี้(15 ธันวาคม2557) ที่โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม เรื่องการเตรียมความพร้อมและการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุข โภชนาการและประชากร จากธนาคารโลก รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติ ขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม สร้างความพร้อมประเทศในภูมิภาคในการรับมือกับอีโบลาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยสนับสนุนความพยายามของนานาชาติในการสกัดกั้นและแก้ไขปัญหานี้ที่ประเทศแหล่งระบาดให้สำเร็จ
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของอีโบลาในอาฟริกาตะวันตกยังน่าเป็นห่วง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2557 พบผู้ป่วย 17,942 คน เสียชีวิต 6,388 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 35 โดยประเทศเซียร์ราลีโอน พบผู้ป่วยมากสุด 7,897 คน เสียชีวิต 1,768 คน ไลบีเรีย ป่วย 7,719 คน เสียชีวิต 3,177 คน กินี ป่วย 2,292 คน เสียชีวิต 1,428 คน ไนจีเรีย ป่วย 20 คน เสียชีวิต 8 คน มาลีป่วย 8คน เสียชีวิต 6 คน สหรัฐอเมริกาป่วย 4 คน เสียชีวิต 1 คน สเปนป่วย 1 คน เซเนกัล ป่วย 1 คน สถานการณ์ที่ประเทศกินี จำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นช้าๆประเทศเซียร์ร่าลีโอน ยังมีผู้ป่วยเพิ่มมากอยู่ ส่วนที่ไลบีเรียมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศได้พัฒนาศักยภาพในการคัดแยกผู้ป่วย รักษา การรายงานผู้ป่วยและการจัดการกับศพผู้เสียชีวิตดีขึ้น
สำหรับภูมิภาคอาเซียน แม้จะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่การระบาด แต่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะทุกภูมิภาคทั่วโลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว มีการเดินทางไปมาหาสู่กันตลอดเวลา มีเที่ยวบินระหว่างประเทศและภูมิภาคจำนวนมาก หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในภูมิภาค จะมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อจะแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาคและนอกภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว การประชุมในวันนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและศักยภาพของประเทศอาเซียนบวกสาม ในการตอบสนองต่อวิกฤติต่างๆ เนื่องจากมีกลไกที่สร้างไว้ตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส และไข้หวัดนก นำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ รวมทั้งอีโบลาได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในภูมิภาค ซึ่งมีประชากรจำนวนมากกว่าสองพันล้านคนประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งโลก
การระบาดของอีโบลาในครั้งนี้ เป็นทั้ง “บททดสอบ” และ “บทเรียน” ให้ทุกประเทศ ไม่ใช่เป็นความท้าทายเฉพาะทางสาธารณสุขเท่านั้น หากเกิดการระบาดจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจทุกประเทศในภูมิภาคและของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลักสำคัญในการรับมือกับอีโบลา คือการ “ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก”ให้ความรู้ให้กับประชาชน การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ความร่วมมือด้านการวิจัย และวิทยาศาสตร์การแพทย์ การมีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสและทันท่วงที และกลไกการรับมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การยับยั้งและการรับมือกับอีโบลา เป็นไปอย่างเข้มแข็ง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ ทั้งนี้หากทุกประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้สามารถป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรคกับนานาประเทศด้วย
ทางด้านแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวผ่านวิดีโอจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต่อที่ประชุมว่า บทเรียนความสำเร็จการควบคุมป้องกันโรคอีโบลาในพื้นที่ระบาดในอาฟริกาตะวันตก เช่นกรณีตัวอย่างของประเทศไนจีเรียและเซเนกัล มาจาก 4 ประการสำคัญได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมการรับมือที่ดี 2.มาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ 3.นโยบายที่เข้มแข็งของรัฐบาล และ 4.ความร่วมมือของชุมชน ทำให้การควบคุมโรคบรรลุผล และประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคหลังควบคุมโรคได้ดี ไม่พบผู้ป่วยนานกว่า 6 สัปดาห์
การประชุมครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีความพร้อมและความเข้มแข็งในการับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและโรคระบาดอื่นๆมากขึ้น ส่งผลดีในด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจ และความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาค
****************************** 15 ธันวาคม 2557