วันนี้ (15 ธันวาคม 2557) นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงทิศทางและนโยบายการดูแลผู้สูงอายุไทยรองรับสังคมสูงวัย ในเวทีขับเคลื่อนมาตรการการเข้าถึงบริการสุขภาพและสังคมสำหรับผู้สูงอายุว่าการออกแบบระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพของนโยบายรัฐบาลชุดนี้เน้นสิ่งที่เรียกว่า  สังคมเกื้อกูลกัน โดยขณะนี้กำลังมีการสร้างความร่วมมือ โดยต้องเป็นการบูรณาการของ 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย โดยจะเน้นดูแลตั้งแต่ระบบเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นสูงอายุและยังสุขภาพดีอยู่ จนกระทั่งผู้สูงอายุเข้าสู่วาระเป็นผู้ป่วยแบบติดเตียง ด้วยการสร้างทีมหมอครอบครัวขึ้นมา เป้าหมายสุดท้ายของทีมหมอครอบครัว ก็เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและอุ่นใจ เมื่อเจ็บป่วยถ้าต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกเคว้งคว้าง
          “นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอยากให้มีทีมหมอครอบครัวดูแลประชาชนทุกแห่ง โดยการออกแบบทีมหมอครอบครัว อาจจะมีทีมหมอประจำ ซึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อทีมหมอได้โดยตรง โดยในปี 2558 จะมีเป้าหมายการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงให้ชัดเจน ในเชิงปริมาณที่พอจัดการได้ โดยเน้นจัดการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงและยากจน โดยเป็นการออกแบบหลายโมเดล โดยหลักกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแลอยู่หน่วยเดียวแต่เป็นผู้เชื่อมโยงหน่วยอื่นๆ เข้าด้วยกันด้วย” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว
          นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า ทีมหมอครอบครัวและระบบสาธารณสุขจะให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังระยะต่างๆ โดยอยากให้เป็นนโยบายที่ยั่งยืนและมีความต่อเนื่อง โดยขณะนี้พบว่าข้อดีสำคัญของระบบสาธารณสุข คือ มีใจในการทำงาน ไม่ใช่รอแต่คนมาช่วยกัน และไม่ได้รอแต่เงิน รวมทั้งระบบขณะนี้มีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมีใจและมีศักยภาพที่อยากทำให้ท้องถิ่นดีขึ้น ขณะนี้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้มีการทำข้อเสนอขอแก้ไขระเบียบของกระทรวงมหาดไทยให้เอื้อต่อการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อหนุนให้ท้องถิ่นทำงานเพื่อการดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้น เพราะสังคมไทยควรเห็นผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรมิใช่เป็นภาระ
          ด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยหลักการทำงานแล้วท้องถิ่นมีรูปแบบการทำงาน คือ งาน เงิน คน กฎหมาย โดยขณะนี้ภารกิจที่ทำเพื่อผู้สูงอายุมีข้อจำกัดเรื่องข้อกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่ได้ท้วงติงไว้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไม่มีระเบียบรองรับอะไรให้ท้องถิ่นดูแลผู้สูงอายุได้ อีกทั้งบุคลากรท้องถิ่นเองมีไม่เพียงพอ
          “เรามีหน้าที่แต่ไม่มีอำนาจทำได้แต่ไม่ให้ใช้เงิน ปัจจุบันท้องถิ่นไม่ได้สังกัดหน่วยงานไหน แต่อยู่ภายใต้การทำงานจังหวัดของอำเภอ โดยขณะนี้ติดขัดเรื่องอำนาจการเบิกจ่าย ที่ไม่สามารถส่งเสริมหรือสนับสนุนระบบผู้สูงอายุได้เต็มที่” นายนภดลกล่าว
          นายแพทย์สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า มิติด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีกรอบที่กว้างกว่าระบบบริการสาธารณสุขทั่วไป ขณะนี้แต่ละกระทรวงมีแผนงานผู้สูงอายุเป็นของตัวเองในระบบแนวดิ่ง  โดยท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลระบบสุขภาพผู้สูงอายุ ส่วนราชการต้องมีหน้าที่ในการเสริมพลังท้องถิ่นให้ก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องกลไกทางการเงินที่ท้องถิ่นติดขัดอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบัน สปสช.ยังอาศัยแนวคิดเรื่องกองทุนตำบลอยู่ แต่มีแนวคิดเรื่องการตั้งกองทุนระดับพื้นที่ โดยกำลังมีการเสนองบประมาณปี 2559 มีข้อเสนอเรื่องงบประมาณดูแลผู้สูงอายุระยะยาว มีการนำร่องดำเนินการไปแล้วใน 11 พื้นที่ สิ่งที่ขาดหายไปและจำเป็นต้องทำคือเรื่องกฎหมาย โดยทำเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยแก้ระเบียบให้ท้องถิ่นสามารถนำเงินมาบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุได้
          ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศิริ ปรารถนาดี รองประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เท่าที่ทำงานด้านพัฒนาผู้สูงอายุมานานได้ข้อสังเกตว่าชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง ต้องมี 5 คุณสมบัติ 1.มีอุดมการณ์ วัตถุประสงค์ชัดเจน 2.คณะกรรมการ ประธาน ชมรม มีความสามัคคี มีความโปร่งใส 3.มีงบประมาณ เงินทุน โดยร้อยละ 80 มาจากสปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 4.งานที่สำเร็จคือภาคี ที่สำคัญคือ อปท.และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข และ5.มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องกันไปในหลายมิติ
********************************* 15 ธันวาคม 2557


   
   


View 13    15/12/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ