กระทรวงสาธารณสุข เผยเมาสุราเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงสุด พบมากสุดในรถจักรยานยนต์ รอบ 3 วันหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 นำส่งผู้ป่วยภายใน 10 นาทีร้อยละ 81 ข้อมูลสุ่มตรวจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 656 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดีตามกฎหมายรวม 201 ราย ย้ำบุคคลใกล้ชิดช่วยกันเตือนคนขับขี่ ง่วง เมา เพลีย ไม่ขับ
วันนี้ (2 มกราคม 2558) ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการดำเนินงานในการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รณรงค์ให้ประชาชนดื่มแล้วไม่ขับ สวมหมวกกันน็อค และคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุสูงสุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ทุกปี ในวันที่ 1 มกราคม 2558 พบร้อยละ 49 ของการเกิดอุบัติเหตุมาจากเมาสุรา รองลงมาร้อยละ 24 ขับรถเร็วเกินกำหนด อีกทั้งยังพบว่าผู้เสียชีวิตเป็นเด็กต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 20 ราย ในจำนวนนี้มีสาเหตุจากเมาแล้วขับถึง 4 ราย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนนสายตรง โดยเป็นถนนใน อบต. ชุมชน หมู่บ้านมากที่สุด จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนเข้ามาร่วมในจุดสกัดในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ขอให้คนในครอบครัว คนใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้ที่รู้สภาพความพร้อมของคนขับดีที่สุด ช่วยกันเตือนคนขับ “เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เพลียไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกกันน็อค” เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติจราจร
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉินในรอบ 3 วัน ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2557 - 1 มกราคม 2558 ทีมปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินจากโรงพยาบาลรัฐในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 1,500 แห่ง มีผู้โทรขอความช่วยเหลือผ่านหมายเลข 1669ร้อยละ 33 สามารถไปถึงจุดเกิดเหตุให้การภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานได้ร้อยละ 81 นำส่งผู้ป่วยทั้งหมด 4,510 ราย ในจำนวนนี้ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,272 ราย ดังนั้นขอให้ประชาชนที่พบเห็นหรือประสบเหตุ โทรแจ้ง 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนที่ทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจะไปรับที่จุดเกิดเหตุ
ด้านนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ในปีนี้ ได้เข้มข้นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยส่งทีมจากส่วนกลาง 5 ทีมลงพื้นที่สุ่มตรวจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทุกภาค ผลการสุ่มตรวจตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2557 – 1 มกราคม 2558 ที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น เลย มหาสารคาม อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ชลบุรี นครนายก อยุธยา สมุทรสงคราม ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กทม.และปริมณฑล ตรวจทั้งหมด 652 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 201 ราย และตักเตือนประชาสัมพันธ์ 455 ราย โดยความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด และส่งเสริมการขาย เช่นลดแลกแจกแถม ชิงโชค เป็นต้น รวม 91 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รองลงมาคือขายโดยไม่มีใบอนุญาต 61 ราย มีโทษปรับไม่เกิน 500-2,000 บาท ขายในสถานที่ต้องห้าม ได้แก่ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน สถานที่ราชการ 18 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน ในรอบ 3 วันที่ผ่านมาพบว่ามีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามริมถนนทางหลวงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังพบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 15 ราย ซึ่งผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และในจำนวนนี้ 13 ราย ยังมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีซื้อหรือดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะออกตรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดอุบัติเหตุตลอดช่วง 7 วันอันตราย
**************************** 2 มกราคม 2558