“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดอีโบลาต่อเนื่อง ผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศรวม 3,696 คน พบผู้ที่อยู่ในข่ายสอบสวนโรค 5 ราย โดย 4 ราย เป็นชาวยุโรปที่เข้าไปทำงานในประเทศระบาด รายล่าสุดมาจากไลบีเรีย ถึงไทยเมื่อ 24 ธันวาคม 2557 ผลตรวจยืนยันไม่ติดเชื้ออีโบลา แต่พบเชื้อมาลาเรีย มีอาการรุนแรง เน้นย้ำโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิก เคร่งครัดซักประวัติการเดินทางของผู้ป่วยต่างชาติที่มีอาการไข้ทุกราย โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว
วันนี้ (5 มกราคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศขณะนี้ค่อนข้างเพิ่มต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 20,206 ราย เสียชีวิต 7,905 ราย ยังคงพบการระบาดใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินีพบผู้ป่วยรายใหม่เดือนละประมาณ 300 ราย เซียร์ราลีโอนในช่วง 21 วันที่ผ่านมาพบเกือบ 1,000 ราย และไลบีเรียซึ่งสถานการณ์ดีขึ้น 21 วันล่าสุดพบผู้ป่วย 91 ราย ที่น่าสังเกตคือช่วงหลังพบอาสาสมัครต่างชาติที่ไปทำงานช่วยเหลือประเทศระบาด ติดเชื้อบ่อยขึ้น และเป็นเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งลงไปปฏิบัติงาน ได้รับการฝึกอบรมค่อนข้างดี ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเอ็น เดินทางจากพื้นที่ระบาดมาไทย ซึ่งบางคนมีอาการป่วยหลังกลับมาไทย แต่ไม่พบการติดเชื้อไวรัสอีโบลา
นายแพทย์วชิระกล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดเป็นหลักและตรวจทุกวัน จนถึงวันนี้ตรวจไปแล้ว 3,696 คน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยพบผู้ที่อยู่ในข่ายสอบสวนโรค 5 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนพื้นเมืองที่มาจากประเทศที่มีการระบาดเพียง 1 ราย ที่เหลือ 4 รายเป็นชาวยุโรปที่ไปทำงานในพื้นที่ระบาด รายล่าสุดเป็นชายชาวยุโรป อาชีพวิศวกรเหมืองแร่ ไปทำงานที่ประเทศไลบีเรีย เดินทางออกจากไลบีเรียวันที่ 22 ธันวาคม 2557 เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ตรวจคัดกรองที่สนามบินไม่มีไข้ เริ่มมีไข้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ไปพบแพทย์ที่คลินิก แพทย์ที่คลินิกไม่ได้ซักประวัติการเดินทาง เนื่องจากเป็นชาวยุโรป หลังจากนั้นเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่ต่างจังหวัด และมีไข้สูง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน จึงไปพบแพทย์ที่คลินิกอีกครั้งและไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชน ผลตรวจเลือดพบเชื้อมาลาเรีย อาการค่อนข้างรุนแรง มีอาการสับสน เข้าข่ายมาลาเรียขึ้นสมอง ทางรพ.ซักประวัติพบมาจากไลบีเรีย จึงประสานกระทรวงสาธารณสุขและส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2558 ผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 2 ครั้งในวันที่ 2 และ 3 มกราคม 2558 ไม่พบติดเชื้อไวรัสอีโบลา วินิจฉัยว่าเป็นโรคมาลาเรียขึ้นสมอง และระบบการทำงานของหลายอวัยวะล้มเหลว ได้ทำการฟอกไต ผู้ป่วยอาการดีขึ้น
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียน ที่จะต้องนำมาพัฒนาระบบการทำงาน เนื่องจากระยะหลัง ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด มักเป็นชาวยุโรป ไม่ใช่คนพื้นเมืองประเทศที่มีการระบาด ซึ่งทุกรายจะผ่านการคัดกรองและติดตามจากกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อมีไข้ ไปรับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล จึงมักไม่ได้ซักถามประวัติการเดินทาง เนื่องจากไม่ใช่ชาวต่างชาติผิวสี ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นย้ำสถานบริการทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งคลินิกต่างๆ ให้เคร่งครัดซักประวัติการเดินทางของชาวต่างชาติที่มีไข้ที่ไปรับการรักษาทุกราย โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม รวมทั้งให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเข้มข้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาด อย่างต่อเนื่อง
ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยพบผู้ป่วยมาลาเรียปีละประมาณ 20,000 ราย เป็นคนไทยและต่างชาติครึ่งต่อครึ่ง ส่วนใหญ่พบในสัญชาติพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดนและข้ามมารักษาในประเทศไทย คนไทยป่วยโรคนี้น้อยลง สำหรับในทวีปแอฟริกาตะวันตก เป็นพื้นที่พบโรคมาลาเรียจำนวนมาก การกินยาป้องกันโรคมาลาเรียก่อนเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันล่วงหน้า เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประการสำคัญยาจะมีฤทธิ์ทำให้อาการป่วยไม่ชัดเจน ทำให้วินิจฉัยโรคได้ช้าและได้รับการรักษาช้าตามไปด้วย อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด เช่นนอนในมุ้ง ทายากันยุง และหากมีอาการป่วยคือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ บางรายอาจจับไข้วันเว้นวัน หลังออกจากพื้นที่ประมาณ 15 วัน ขอให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น เพราะโรคนี้มียารักษาหายขาด แต่อาจติดเชื้อซ้ำได้อีก หากเข้าไปในพื้นที่ระบาดโดยไม่ป้องกันยุงกัด
*********************************** 5 มกราคม 2558