ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการจัดบริการประชาชนโรงพยาบาลในเขตภาคกลาง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เตรียมพัฒนายกระดับโรงพยาบาลศูนย์ เพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขาหลัก รองรับการรักษาประชาชนในโรคที่เป็นปัญหาในพื้นที่ อาทิ โรคหัวใจ มะเร็ง ลดการส่งต่อออกนอกจังหวัด หลังพบปัญหาการส่งออกนอกเขตปีละเกือบ 2 หมื่นราย ต้องตามจ่ายปีละกว่า 700 ล้านบาท เร่งพัฒนาแต่ละสาขาโรคเป็นระบบตั้งแต่การรักษาจนถึงการส่งเสริมป้องกันไม่ให้ป่วยเพิ่มขึ้น

          วันนี้ (7 มกราคม 2558) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช และโรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และติดตามปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการประชาชน ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่า โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งต้องดูแลประชาชนทั้งจังหวัดที่มีเกือบ 9 แสนคน อีกทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร การคมนาคมสะดวก ทำให้แต่ละปีมีผู้ป่วยส่งไปรักษานอกเขตบริการ โดยเฉพาะในรพ.ของโรงเรียนแพทย์ สถาบันเฉพาะทาง เอกชน มากสุดคือโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ปีละเกือบ 20,000 คน ทำให้ต้องตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลปีละ 700 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนา เพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ โรคหัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุและทารกแรกเกิด เพื่อยกระดับรพ.เจ้าพระยายมราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดให้มีศักยภาพรองรับประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ลดการส่งต่อนอกเขต ซึ่งในสาขาโรคหัวใจคาดว่าจะให้บริการสมบูรณ์แบบในปี 2561 รวมทั้งยกระดับโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เช่นรพ.เดิมบางนางบวช ให้มีความสามารถในการรักษาโรคที่จำเป็น เช่น การผ่าตัดตา ให้ยาละลายลิ่มเลือด ผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นต้น

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ตามแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ของกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะให้ทั้งเขตสุขภาพจัดบริการร่วมกัน ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  ใช้ทรัพยากรในเขต รวมทั้งพัฒนายกระดับการรักษาในระดับเขต ให้ครบทุกโรคที่สำคัญและจำเป็น เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาเป็นรายจังหวัดที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เช่น เครื่องมือรักษาโรคมะเร็ง ที่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกจังหวัด มี 1-2 เครื่องก็เพียงพอรักษาประชาชนในเขต  หรือการให้จักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ทำหน้าที่เป็นจักษุแพทย์ของคนทั้งจังหวัดโดยไม่ต้องต้องเพิ่มจักษุแพทย์ไปที่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เป็นต้น ผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปี พบว่าเห็นผลชัดเจนขึ้น สามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ที่มีเตียงทั้งหมด 86,000 กว่าเตียง ความแน่นแออัดลดจากร้อยละ 106 ในปี 2555 เหลือร้อยละ 99 ในปี 2556 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนมีการใช้เตียงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  จึงมั่นใจว่ากระทรวงฯเดินมาถูกทาง ในอนาคตจะเน้นการพัฒนาในแต่ละสาขาโรคตั้งแต่การรักษา เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจนถึงการส่งเสริมป้องกันไมให้ป่วย 

ด้านนายแพทย์ชัยวัฒน์ จัตตุพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย 10 อำเภอมีโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลอำเภอ 8 แห่ง รพ.สต. 174 แห่ง ในปี 2557 ให้บริการผู้ป่วยนอกทุกโรงพยาบาลเฉลี่ยต่อวัน 6,670 ราย อัตราการครองเตียง ร้อยละ78 การส่งต่อผู้ป่วยออกนอกเขตใน 9 เดือนของปี 2557 จำนวน 14,601 ราย โรคที่ส่งต่ออันดับ 1 คือ โรคหัวใจ รองลงมาคือมะเร็ง และส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม โดยส่งไปที่โรงพยาบาลศิริราช 3,305 ราย ราชวิถี 1,720 ราย เมตตาประชารักษ์ 1,580 ราย สถาบันโรคทรวงอก 1,366 ราย สถาบันสุขภาพเด็กฯ 1,123 ราย และโรงพยาบาลเอกชน 524 ราย นอกจากนี้ยังมีการส่งต่อผู้ป่วยภายในจังหวัด 9,290 ราย ด้วยโรค 5 อันดับแรกคือ กระดูกหัก หลอดเลือดสมอง ไส้ติ่งอักเสบ ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด

ในปี 2558 นี้ จะพัฒนาระบบการส่งต่อเชื่อมโยงโรงพยาบาลทุกระดับ ให้เกิดความรวดเร็วคล่องตัว โดยนำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ และจะพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในระบบบริการผู้ป่วย ช่วยให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบการรับบริการของผู้ป่วยทั้งจังหวัด ติดตามสุขภาพและการรักษาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งป้องกันควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

********************************************  7 มกราคม 2558

 



   
   


View 18    07/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ