“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
จากกรณีข่าวพบสุนัขในตำบลท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดมหาสารคามได้ประกาศเป็นเขตระบาดสัตว์ชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ต่างๆ เป็นเวลา 15 วัน รวมทั้งนำสุนัข แมว ในวัดป่าวังเลิงที่มีกว่า 20 ตัวมากักตัวสังเกตอาการนั้น
วันนี้ (8 มกราคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งการป้องกันควบคุมโรคอย่างใกล้ชิดทั้งในสัตว์และในคน โดยในส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งติดตามผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับสุนัขที่อาจติดเชื้อในพื้นที่ระบาด ทั้งในวัดและที่บ้าน ให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับทุกแห่ง ฟรี
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ปี 2556 และ 2557 พบว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 7 รายและเสียชีวิตทุกราย จากการสอบสวนของนักระบาดวิทยาพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขหรือสุนัขที่เลี้ยงไว้กัด จึงชะล่าใจคิดว่าไม่มีเชื้อ รวมทั้งแผลที่ถูกกัดเป็นแค่รอยถลอกเล็กน้อย จึงไม่มาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นจึงได้เร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคนี้ โดยแนะนำให้ผู้ที่เลี้ยงสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ที่สำคัญขอให้ผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วนทุกราย รีบพบแพทย์และรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุด เนื่องจากโรคนี้ป้องกันได้ด้วยวัคซีนแต่หากหลังติดเชื้อและมีอาการป่วยแล้ว จะไม่มีหนทางรักษา ต้องเสียชีวิตทุกราย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยปลอดผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2563
ด้านนายแพทย์คิมหันต์ ยงรัตนกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเพื่อให้ความรู้ประชาชน และค้นหาผู้ที่อาจสัมผัสกับเชื้อโรคทั้งที่เลี้ยงตามบ้านและที่วัด ได้ฉีดวัคซีนแล้วรวม 14 ราย ขณะนี้ได้เร่งค้นหาให้ครบทุกหลังคาเรือน และขอแนะนำว่าหากถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลีย ให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลายครั้งทันที รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบ 4-5 เข็ม โดยหากเคยฉีดวัคซีนมาแล้วแพทย์จะฉีดกระตุ้นให้อีก 1-2 เข็ม และกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีอาการดังนี้ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เซื่องซึม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันนำไปกักขังสังเกตอาการ หากตายก็ให้ส่งตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้าด้วย
ทั้งนี้ ในคนอาจแสดงอาการภายหลังได้รับเชื้อได้ตั้งแต่ 7 วันหรืออาจนานกว่า 1 ปีก็ได้ โดยเริ่มจากเบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย คันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด แล้วจะลุกลามไปทั่วตัว ผู้ป่วยจะเริ่มกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กินอาหารหรือน้ำไม่ได้ เกิดอาการ "กลัวน้ำ" กล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด ในการลดความเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า ข้อแนะนำให้ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย เน้น 5 ย. คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัข โกรธ 2.อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยกสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่กำลังกัดกัน ด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ5.อย่ายุ่ง หรือ เข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
************** 8 มกราคม 2557