รัฐมนตีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายทีมหมอครอบครัว ดูแลผู้ป่วยที่ต้องดูแลระยะยาว ติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ที่ อ.ลำสนธิ   จ.ลพบุรี  พบว่าชาวบ้านประทับใจ ตรงความต้องการสังคม ครอบครัว ผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้านได้รับการดูแลทั้งด้านสุขภาพและความเป็นอยู่  ช่วยทุเลาปัญหา มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น   เตรียมขยายผล เพิ่มทีมหมอครอบครัวให้ได้ กว่า 30,000 ทีมหรือ 3 เท่าตัวของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2558 นี้   

วันนี้ (10 มกราคม 2558 )ที่ จ.ลพบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลลำสนธิ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลที่สุดในจังหวัด ชาวบ้านทำอาชีพเกษตรกร ฐานะยากจน การเดินทางยากลำบาก มีประชากร 25,000 คน เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายทีมหมอครอบครัว ดูแลระยะยาวผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อยู่ที่บ้าน

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า นโยบายหมอครอบครัวในปีแรกนำร่องใน 250 อำเภอในทุกจังหวัด เน้นดูแล 3กลุ่ม คือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่มีประมาณ 2 ล้านคน ในอนาคตจะขยายผลดูแลกลุ่มอื่นๆอาทิ กลุ่มเด็กเล็ก เพื่อปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม  ตั้งแต่วัยเด็ก ซึมซับการเกื้อกูล เอื้ออาทร ป้องกันปัญหาอื่นๆได้ เช่น การทุจริต การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร รวมทั้งจะเป็นการขยายผลการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยประชาชนทุกกลุ่มวัยหลายๆเรื่อง โดยเริ่มจากฐานของครอบครัว ในปี 2558 นี้ จะเพิ่มทีมหมอครอบครัวให้ได้กว่า 30,000 คนหรือประมาณ 3 เท่าตัวของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีทั่วประเทศกว่า 9,700 แห่ง ภายในเดือนเมษายน 2558 โดยจะประเมินผลรอบแรกและเปิดเวทีวิชาการด้านนี้ในเดือนมิถุนายน ก่อนขยายผลทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2558

จากการรับฟังผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลลำสนธิ พบว่าทีมหมอครอบครัวได้สร้างผลงานดูแลประชาชนที่ต้องพึ่งพิงในระยะยาวและผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตได้อย่างน่าชื่นชม สิ่งสำคัญที่จะทำให้นโยบายสำเร็จอยู่ที่จิตใจที่เสียสละของบุคลากร นับเป็นต้นแบบที่เหมาะสมแห่งหนึ่งในประเทศที่นำไปปฏิบัติร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในด้านสวัสดิการสังคม จากการลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วย 2 รายที่ป่วยเป็นเบาหวานกับเส้นเลือดสมองแตก พบว่าได้รับการดูแลอย่างดี อาการดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น  ลดภาระครอบครัว  เป็นการพิสูจน์ว่าทีมหมอครอบครัวและภาคสังคมที่เข้มแข็งช่วยกันดูแลประชาชนอยู่ที่บ้านได้ เป็นการต่อยอดบริการสาธารณสุขในชุมชมร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ  โดยจะให้โรงพยาบาลลำสนธิ เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานในเรื่องนี้

ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าจากการรับฟังผลการทำงาน พบว่า การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการสังคมและมีความสำคัญมากขึ้น  ทีมหมอครอบครัว จะเป็นโอกาสเป็นการต่อยอดการทำงานตรงความต้องการประชาชน  และ ที่สำคัญจะเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆอีกหลายๆเรื่อง เช่น เด็กที่โดนทำร้าย ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ทีมหมอครอบครัวจะช่วยให้ประชาชนที่มีปัญหา มีความต้องการด้านสุขภาพ  สามารถปรึกษาปัญหามากขึ้น   

ด้านนายแพทย์สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ กล่าวว่าอ.ลำสนธิ เป็นพื้นที่การเกษตร มี 49 หมู่บ้าน แต่ละวันประชากรวัยหนุ่มสาว จะออกไปทำงานนอกบ้าน มีผู้สูงอายุเลี้ยงลูกหลานที่บ้าน ผู้ป่วยหรือสูงอายุบางคนเจ็บป่วยจึงขาดผู้ดูแล  จากการสำรวจพบว่ามีประชาชนเจ็บป่วยเรื้อรังและต้องพึ่งพาการดูแลจากบุคคลอื่น 343 คน กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุ  ฐานะยากจน ไปโรงพยาบาลด้วยความยากลำบาก จึงได้ริเริ่มโครงการ “คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน” ตั้งแต่ปี 2549 ระดมการมีส่วนร่วม จากหน่วยงานท้องถิ่น ใช้บ้านเป็นศูนย์กลางดูแลจัดบริการ สร้างทีมงานไปดูแลสุขภาพที่บ้าน มีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา  เภสัชกร อสม.โดยได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นในการผลิตนักบริบาลชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั้งอำเภอ  มีการสนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทน เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านได้อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องสุขภาพ การดำรงชีวิตประจำวัน   รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงสภาพบ้านเรือน อำนวยความสะดวกผู้ป่วยให้อยู่บ้านได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม   โดยโรงพยาบาลจะมีคลังเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ เตียง ออกซิเจน เพื่อจัดส่งไปใช้กับผู้ป่วยที่บ้านอีกด้วย   

 จากการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ในปี 2555 กลุ่มผู้ป่วยที่อาการรุนที่มีประมาณร้อยละ 10 มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนมากกว่าร้อยละ 30 ไม่มีรายใดอาการแย่ลง  ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงปานกลาง มากกว่าร้อยละ50อาการดีขึ้นอย่างมาก  มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น  บางรายลุกเดินได้เอง  ขณะนี้ผู้ป่วยและประชาชนทุกราย สามารถติดต่อสื่อสารกับหมอครอบครัวได้รวดเร็ว  แจกนามบัตรและเบอร์โทรศัพท์ ทีมหมอครอบครัวขยายบริการดูแลกลุ่มเด็กทุกคนในพื้นที่ หากป่วยฉุกเฉินสามารถไปโรงพยาบาลเพื่อพบหมอครอบครัวตนเองได้เลย  ขณะนี้ที่ อ.ลำสนธิ  ได้จัดตั้งคณะกรรมการดูแลผู้ป่วยระยะยาวระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน  และได้ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม  ซึ่งพบมากประมาณร้อยละ 2-5  ของผู้สูงอายุและมีแนวโน้มมากขึ้น  รวมทั้งการดูแลพัฒนาการเด็กเล็ก เพื่อเป็นรูปแบบก่อนขยายผลการดูแลประชาชนในพื้นที่ในอนาคต      

  *********************         10 มกราคม 2558

 



   
   


View 11    10/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ