นักวิชาการสาธารณสุข ประจำโรงพยาบาลบรบือ จ.มหาสารคาม ประสบผลสำเร็จในการจัดโปรแกรมปรับพฤติกรรมป้องกันข้อเข่าเสื่อมในคนอ้วน ใช้เวลา 3 เดือน โดยพัฒนาถุงทรายรัดข้อเท้า ให้คนอ้วนออกกำลังกายขา บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า สร้างคู่บัดดี้ ปุ้มปุ้ย กระตุ้นการออกกำลังกายแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และสื่อการสอน  พบได้ผลดี ข้อเข่าทำงานอยู่ในระดับปกติสูงถึงร้อยละ 91 เป็นวิธีป้องกันข้อเข่าเสื่อมที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ      

นางสาวปาริชาติ สัตย์ญารักษ์ นักวิชาการสาธารณสุข ประจำโรงพยาบาลบรบือ  อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ได้นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย เรื่องผลการใช้โปรแกรมการออกกำลังกายด้วยถุงทรายในการป้องกันข้อเข่าเสื่อมของผู้ที่มีภาวะอ้วน ในตำบลบรบือ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ว่า จากการศึกษาข้อมูลที่บ้านนาดี ต.บรบือ พบว่าประชาชนมีปัญหาข้อเข้าเสื่อม 87 คน พบทั้งวัยแรงงานและผู้สูงอายุ สาเหตุของโรคนี้เกิดมาจากการสึกกร่อนของผิวข้อกระดูกอ่อน ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่นอายุมาก ใช้งานข้อเข่ามาก แต่มักจะเกิดคู่กับคนที่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวและเกิดแรงกดทับที่ผิวข้อ เกิดการขัดสีกัน ทำให้ข้อเข่าบวมและมีอาการปวด หากมีอาการรุนแรงจะเดินไม่ได้ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ โรคนี้ต้องรักษาโดยการผ่าตัด ตั้งแต่การส่องกล้องเพื่อล้างข้อเข่า การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขา  จนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในผู้ที่มีผิวข้อสึกกร่อนรุนแรง ข้อเข่าผิดรูป หรือข้อยึดติดมาก หลังผ่าตัดต้องใช้เวลาฝึกเดิน และมีค่าใช้จ่ายสูง 

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยจึงต้องการป้องกันปัญหาข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอ้วน ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างคนอ้วนในหมู่บ้านนาดี ที่มีดัชนีมวลกายสูงกว่า 25 กก./ตรม.จำนวน 22 คน โดยได้พัฒนาโปรแกรมออกกำลังกายบริหารข้อเข่าด้วยถุงทรายที่พัฒนาขึ้นเอง มีน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม โปรแกรมดังกล่าวประกอบด้วยการบรรยาย วีดีทัศน์ การให้ความรู้โรคข้อเข่าเสื่อม ปัจจัยเสี่ยง ความรุนแรงของโรค และการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การออกกำลังกายด้วยถุงทราย เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างรับรู้ความรุนแรง โอกาสเสี่ยง ประโยชน์และอุปสรรค และการออกกำลังกายด้วยถุงทรายที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น  โดยผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคเพื่อนช่วยเพื่อน ให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 22 คนที่อยู่บ้านใกล้กัน จับคู่กันเป็นบัดดี้-ปุ้มปุ้ย เพื่อช่วยเหลือกัน กระตุ้นให้ออกกำลังกายตามคู่มือจำนวน 12 ท่า ทั้งท่านั่ง ท่านอน และท่ายืน ต่อเนื่องจนครบ  12 สัปดาห์      

ผู้วิจัยกล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาพบว่าภายหลังทำกิจกรรมครบ 12 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างทั้ง 22 คน มีระดับการตอบสนองของข้อเข่าในระดับปกติร้อยละ 91 สูงกว่าก่อนทำกิจกรรมที่มีการตอบสนองระดับปกติเพียงร้อยละ 27 ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาข้อเข่าเสื่อมที่ใช้ต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพสูง แสดงให้เห็นว่าหากผู้ที่มีภาวะอ้วนออกกำลังกายบริหารขาและข้อเข่าด้วยถุงทราย จะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่ามีความแข็งแรง การเคลื่อนไหวข้อเข่าดีขึ้น แต่จะต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้มีการปฏิบัติจนเป็นนิสัย กลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ควบคู่กับการควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคต

สำหรับถึงทรายที่ใช้บริหารข้อเข่า เป็นถุงทรายที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเอง มีขนาดกว้าง 5 นิ้ว ยาว 11 นิ้ว ใช้ทรายวิยาศาสตร์น้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม ตัดเย็บด้วยผ้ายืดและมีสายล็อคพันรอบข้อเท้า ไม่มีปัญหาอับชื้น มีราคาต้นทุนถูกเพียงถุงละ 90 บาท อย่างไรก็ตามผู้วิจัยได้แนะนำว่า ในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ควรป้องกันไม่ให้ข้อเข่าเสื่อม โดยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่ามากเกินไป หรือใช้ในท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ที่สำคัญทั้งคนอ้วนและไม่อ้วนควรบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพื่อช่วยพยุงข้อเข่าให้ไม่ให้แบกรับน้ำหนักมากจนเกินไป                      

                                                                                     ******************    11 มกราคม 2558

 



   
   


View 11    11/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ