โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. ... ซึ่งมีความทันสมัย ใช้ทันยุคการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพิ่มมาตรการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ปกป้องการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ส่งเสริมการส่งออกเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งที่ผ่านมามีมูลค่าปีละกว่าแสนล้านบาท พร้อมเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติในบ่ายวันนี้ คาดประกาศใช้ในปีนี้ พร้อมทั้งเร่งออกกฎหมายสาธารณสุขคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทยอีก 27 ฉบับ
          วันนี้ (14 มกราคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข  เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง  พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ถัดจากร่างพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมที่ผ่านครม.เมื่อปี 2557 จากทั้งหมดที่ผลักดันและอยู่ในขั้นการออกกฎหมายรวม 28  ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 8 ฉบับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 4 ฉบับ กรมควบคุมโรค 3 ฉบับ กรมอนามัย  3 ฉบับ  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 1 ฉบับ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ 3 ฉบับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ฉบับ สภาวิชาชีพและสถาบันต่างๆ รวม 4 ฉบับ
          นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว จัดอยู่ในกลุ่มกฎหมาย 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทกฎหมายพันธะสัญญาระหว่างประเทศ 3 ฉบับเช่น พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 2.ประเภทตามนโยบายรัฐบาลและแก้ปัญหาประชาชนระยะยาว 23 ฉบับเช่น พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.ส่งเสริมการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคติดยาเสพติด พ.ร.บ.สเต็มเซลล์ พ.ร.บ. โรคติดต่อ และ3.ประเภทที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาหน่วยงานภายในฯ อีก  2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข โดยร่างพ.ร.บ.เครื่องสำอางฯ จะนำเสนอที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในบ่ายวันนี้ เพื่อพิจารณาก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายใน พ.ศ. 2558 นี้
          ด้านนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. … นั้น  เป็นกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ปรับปรุงสาระจากพ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับเดิมพ.ศ.2535 ซึ่งใช้มานานกว่า 22 ปี ให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนกับ 9 ประเทศในปลายปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive) รวมทั้งปรับปรุงรายละเอียด บทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในการกำกับดูแลเครื่องสำอางที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยในระดับสากล ซึ่งต่อปีไทยส่งออกเครื่องสำอางสู่ตลาดโลกในอันดับต้นๆ ของอาเซียน ปีละกว่า 100,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการผลิตและจำหน่ายในประเทศประมาณ 150,000 ล้านบาท                                        
         ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค  เช่น 1.ได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมนิยามเครื่องสำอางให้ชัดเจน ครอบคลุมตามหลักสากล  เช่น การส่งออก โฆษณา สื่อโฆษณา  2.ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น การกำหนดคุณลักษณะของเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย วัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ชื่อ ปริมาณ และเงื่อนไขของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หลักเกณฑ์วิธีการผลิต วิธีการนำเข้า วิธีการเก็บรักษาเครื่องสำอาง การรับแจ้งและการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้เครื่องสำอาง ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า เพื่อขายต้องจัดไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และเพิ่มอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการสั่งให้ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย ผู้ขายหรือผู้ครอบครองจัดเก็บหรือเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้และเครื่องสำอางปลอมเพื่อทำลาย  หรือส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด  3.กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายทุกประเภทต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อเจ้าหน้าที่ก่อนผลิตหรือนำเข้า  จากเดิมที่กำหนดบางประเภทเท่านั้น 4.เพิ่มข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาเครื่องสำอางจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาบังคับใช้โดยอนุโลม รวมทั้งกำหนดให้เลขาธิการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการแก้ไขข้อความโฆษณาหรือห้ามการโฆษณาหรือโฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด
          นอกจากนี้ ยังปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ให้เอื้อต่อการส่งออก เพิ่มความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกตามกฎหมายของประเทศคู่ค้า และเพิ่มโอกาสให้องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเครื่องสำอางมากขึ้น  รวมทั้งกำหนดให้ผู้ขอจดแจ้ง ผู้จดแจ้ง หรือผู้ทำการโฆษณา มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่างๆ เช่น คำสั่งไม่ออก/ ไม่ต่ออายุใบรับจดแจ้ง คำสั่งเพิกถอนใบรับจดแจ้ง คำสั่งเกี่ยวกับการโฆษณา โดยมีการกำหนดวิธีการอุทธรณ์คำสั่ง ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ให้กระบวนการเสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับคำอุทธรณ์ และให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินเก้าสิบวันในกรณีที่จำเป็น   รวมทั้ง ได้เพิ่มโทษให้สูงขึ้นสำหรับการฝ่าฝืน ลักลอบผลิต/ นำเข้า/ ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย และกำหนดให้เลขาธิการ อย.มีอำนาจเปรียบเทียบคดีได้ในกรณีเป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน   โดยร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฯฉบับนี้ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2552 ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและครม.ได้อนุมัติในหลักการแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2554 และรอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แต่มีการยุบสภาก่อน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
*******************************  14 มกราคม 2558


   
   


View 14    14/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ