วันนี้ (16 มกราคม 2558) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารส่วนกลางและภูมิภาค ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.)แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และรับฟังการนำเสนองานสาธารณสุขชายแดนของจังหวัดตาก การดำเนินงานจัดบริการของโรงพยาบาลแม่สอด และปัญหาโรคติดต่อตามแนวชายแดน 
         
     ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาหลักประกันสุขภาพบุคคลที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย แต่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ  ไม่มีหลักประกันสุขภาพ  เจ็บป่วยก็มักไม่มีเงินรักษา  และไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น  หากเป็นโรคติดต่ออาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ชุมชนได้ง่าย  ยังมีผลกระทบส่งผลให้โรงพยาบาลต้องรับภาระค่ารักษาที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จำนวนมหาศาล  เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเป็นมิติด้านสังคมที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้พ้นจากความเจ็บป่วยนั้น ต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมกับผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด  
         
     ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า  โรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอชายแดน ใน จ.ตาก มี 5  แห่ง คือ ท่าสองยาง, แม่ระมาด , พบพระ ,อุ้มผาง และแม่สอด  โรงพยาบาลทุกแห่งมีภาระต้องดูแลคนต่างด้าว  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ  ได้แก่ ชาวไทยภูเขา คนไทยพลัดถิ่น คนเมียนม่าร์ที่เข้ามาอยู่เมืองไทยหลายสิบปีแล้วรวมทั้งลูกหลาน โดยมีส่วนน้อยเท่านั้นประมาณร้อยละ  20-30 ที่มีหลักประกันสุขภาพ  ที่เหลือฐานะยากจนมาก ไม่มีเงินซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในปีที่ผ่านมา มีต่างด้าวที่ไม่มีหลักประกัน เจ็บป่วยและต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งรวมประมาณ 12,000 ราย ที่รพ.แม่สอดมีร้อยละ 30 ของผู้ป่วยในทั้งหมด ที่รพ.อุ้มผางร้อยละ  60  รพ.ท่าสองยางร้อยละ  30-40 รวมค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ ต้องจ่ายในลักษณะสังคมสงเคราะห์ รวม 110  ล้านบาท  เฉพาะที่รพ.แม่สอดมีจำนวน  48 ล้านบาท จนทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง และเกิดวิกฤติทางการเงิน แต่ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานกันอย่างเสียสละ
         
     สำหรับโรคติดต่อตามแนวชายแดน ที่พบเป็นปัญหาคือ มาลาเรีย แต่แนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ 50 จากปี 2557 พบผู้ป่วย 6,208 ราย เป็นต่างด้าวร้อยละ 60 เนื่องจากมีการตั้งหน่วยค้นหาและรักษามาลาเรียในหมู่บ้านทั้งฝั่งไทยมี 70 แห่ง และฝั่งเมียนมาร์ 700 แห่ง หากพบจะให้การรักษาทันทีภายใน10 นาที ฟรี ตัวเชื้อมาลาเรียทำให้เกิดไข้กลับซ้ำหรือที่เรียกว่าสามวันดีสี่วันไข้  และพบวัณโรค โรคคอตีบ โรคเท้าช้าง โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น โดยเฉพาะวัณโรค มีลักษณะพิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่พ.ศ. 2550-2557 พบผู้ป่วยรวม 2,592 ราย ร้อยละ 60 เป็นเมียนมาร์ โดยพบติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนาน ส่วนผลการตรวจสุขภาพชาวเมียนมาร์ที่มาใช้แรงงาน ส่วนใหญ่เอ็กซเรย์ปอดผิดปกติ พบเชื้อซิฟิลิส 164 ราย เท้าช้าง 2 ราย และตั้งครรภ์ 958 ราย ทั้งหมดนี้จะต้องเพิ่มยุทธศาสตร์การดูแลเรื่องการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มคนไร้รัฐให้มากขึ้น เพื่อลดภาระด้านการเจ็บป่วยลงให้ได้มากที่สุด
          
     ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวอีกว่า สำหรับในการจัดบริการในกลุ่มต่างด้าว ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร  กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขปัญหา โดยจะพัฒนาต่างด้าวให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกลุ่มประชากรต่างด้าว ในจังหวัดตากจำนวน 1,555  คน ซึ่งจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัยกลุ่มต่างด้าว

     ด้วยกัน ที่ทำงานในโรงงานในแม่สอดที่มีประมาณ 300 แห่ง  และตามหมู่บ้านคู่ขนานชายแดน 500 คน  โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะจัดหลักสูตรพื้นฐานอบรม เช่น เรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน บริการที่จำเป็น เช่น การปฐมพยาบาล การป้องกันโรค ความสะอาดสุขาภิบาล  กฎหมายสุขภาพของไทยที่ต่างด้าวต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะขยายทุกจังหวัดทั่วประเทศครอบคลุมทั้งต่างด้าว คนไร้รัฐ ไร้สถานะทางสิทธิ์  รวมทั้งจะมีการพัฒนากฎหมายรองรับสถานะการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขกลุ่มประชากรต่างด้าวด้วย 

มกราคม3/9-10    ************************** 16 มกราคม 2558
 



   
   


View 8    16/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ