รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ล่าสุด อย.ได้ขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์ที่องค์การอนามัยโลกรับรอง 2 ชนิด เป็นยาใหม่ที่ต้องควบคุมการใช้ 2 ปี พร้อมเตรียมผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ทั่วประเทศ ควบคู่กับการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว บูรณาการงานข้ามกระทรวงหลายมาตรการ การใช้ถุงยางอนามัยทั้งชายและหญิง การคุมกำเนิดระยะยาว เผยล่าสุดปี 2556 วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15ปีคลอดวันละ9 คน อายุต่ำกว่า20 ปีคลอดวันละ 334 คนและตั้งครรภ์ซ้ำ ร้อยละ 12

วันนี้(22 มกราคม 2558)ที่กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้ติดตามความก้าวหน้าเรื่องแนวทางการกระจายถุงยางอนามัย  การป้องกันการตั้งครรภ์วัยรุ่น การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ และติดตามความก้าวหน้าการขึ้นทะเบียนยายุติ การตั้งครรภ์ และยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากข้อมูลของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย พบอัตราคลอดของหญิงอายุ 10-14 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1.1 ต่อประชากร 1,000 คน     ในปี 2548 เป็น 1.7 ในปี 2556 และอัตราการคลอดของหญิงอายุ 15-19 ปี เพิ่มขึ้นจาก 31.1 ต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2543 เป็น 51.2 ในปี 2556 นอกจากนี้ในปี 2556 พบจำนวนการคลอดในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า    15 ปี วันละ 9 คน และ อายุต่ำกว่า 20 ปีวันละ 334 คน ซึ่งเพิ่มจากปี 2543 ที่คลอดวันละ 240 คน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลต่อปัญหาสาธารณสุขหลายด้าน เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอดส์ การทำแท้ง เด็กแรกคลอด มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และพบปัญหาตั้งครรภ์ซ้ำสูงถึงร้อยละ 12

ทั้งนี้เพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และองค์กรเอกชน จัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแบบบูรณาการ พ.ศ.2558 -2567 เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ให้เหลือครึ่งหนึ่ง ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การเสริมสร้างทักษะชีวิตและเพศศึกษา รอบด้านแก่วัยรุ่น 2.การเสริมสร้างบทบาททางเพศ ครอบครัวและชุมชนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา 3.จัดให้มีระบบบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร 4.จัดให้มีระบบช่วยเหลือดูแลและบำบัดฟื้นฟู ให้สวัสดิการทางสังคมแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตร 5.มีการสื่อสารและส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม ค่านิยม ทัศนคติที่เหมาะสม และ6.จัดกลไกเชื่อมประสาน ขับเคลื่อนนโยบาย กำกับ ติดตามเฝ้าระวัง ประเมินผล ระดับประเทศและพื้นที่ ซึ่งหากเสร็จสมบูรณ์จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน (กดยช.)เพื่อพิจารณาและเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป

พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สปสช. จัดทำโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในแม่วัยรุ่น โดยจัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม เนื่องจากในปี 2556 พบการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุ 10 -19 ปี จำนวน 15,295 คน คิดเป็นร้อยละ 12.1 จากจำนวนการคลอด ทั้งหมดของหญิงอายุดังกล่าว โดยได้มีการสนับสนุนค่าบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรกรณีใส่ห่วงอนามัย 800 บาท ต่อรายและฝังยาคุมกำเนิด 2,500 บาทต่อราย นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมแจกถุงยางอนามัย 53.7 ล้านชิ้น และถุงยางอนามัยสำหรับสตรีจำนวน 1 แสนล้านชิ้น เพื่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ โดยจะแจกให้ในกลุ่มวัยรุ่นทั่วประเทศทั้งหมด 37 ล้านชิ้น

สำหรับความก้าวหน้าการขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้ใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 2 ชนิด ได้แก่ ยามิฟิพริสโตน และยาไมโซโพรสตอล และมีใช้ในต่างประเทศแล้ว ใช้ได้ผลมากกว่าร้อยละ 95 ซึ่งในประเทศไทยได้ทำการศึกษา พบว่า สามารถให้ประสิทธิภาพ    การตั้งครรภ์ได้มากกว่าร้อยละ 95 และได้ผลักดันการขึ้นทะเบียนยาโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาใหม่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมอบให้ สปสช.และกรมอนามัย เป็นผู้บริหารและควบคุมกำกับการใช้ยา เพื่อติดตามความปลอดภัยของยาใหม่ 2 ปี พร้อมเตรียมบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติและใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

ทางด้านดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ที่ผ่านมามีการใช้อย่างผิดๆ และการสั่งซื้อยาทางอินเตอร์เน็ตก่อให้เกิดอันตราย ในการขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์ 2 ชนิดนี้ จะเป็นทางเลือกในการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเป็นไปตามข้อบังคับของแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 304 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ได้แก่ หญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา หญิงที่ตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 15 ปีและอายุครรภ์ต่ำกว่า 9 สัปดาห์ หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกทำอนาจาร สนองความใคร่ โดยใช้อุบายล่อลวง บังคับ ข่มขู่ หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเครียดเนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์พิการรุนแรงหรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมรุนแรง โดยสูตินรีแพทย์หรือแพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ได้ตรวจรับรอง หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพ หากปล่อยให้มีการตั้งครรภ์หรือคลอดอาจเป็นอันตรายต่อหญิงผู้นั้นได้ หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและมีแพทย์ที่ไม่ได้เป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 คน รับรองตามขั้นตอนและเงื่อนไข ทั้งนี้จะมีการให้ความรู้      ความเข้าใจเพื่อให้วัยรุ่นที่มีปัญหาสามารถมาใช้บริการด้วย ยาดังกล่าวยังไม่มีขายในร้านขายยา หากมีขายจัดว่าเป็นยาเถื่อน

ขณะนี้กรมอนามัยได้เตรียมความพร้อมแพทย์ในโรงพยาบาล 110 แห่ง ไว้แล้ว อย่างไรก็ตามการใช้ยายุติการตั้งครรภ์เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันคือ การป้องกัน โดยการคุมกำเนิดระยะยาวด้วยการใส่ห่วงอนามัยหรือการฝังยาคุมกำเนิดในกลุ่มสตรีวัยรุ่นที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ หากวัยรุ่นมีปัญหาสามารถปรึกษาได้ที่คลินิกวัยรุ่นใกล้บ้านในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

 **************************** 22 มกราคม 2558
 



   
   


View 13    22/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ