วันนี้ (26 มกราคม 2558) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์คำรณ  ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตที่ 1 พร้อมคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมสภาพปัญหาโรงพยาบาลตามแนวชายแดนและการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่จ.น่านพบว่า การจัดบริการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช จ.น่าน มีครบในรพ.ทุกแห่ง โดยมีจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชเป็นผู้รับผิดชอบดูแล  ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการ 3,188 ราย คิดเป็นร้อยละ 35 แม้จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการเข้าถึงบริการ แต่พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูง ติดอยู่ใน 10อันดับแรกของประเทศ จากสถานการณ์ดังกล่าวจ.น่าน จึงตั้งเป้าหมายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านจิตเวชเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นและลดอัตราฆ่าตัวตาย ให้ผู้ติดสุราได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถของรพ.ชุมชนและรพ.สต.ในรูปแบบเครือข่ายการทำงานร่วมกัน

     นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า หัวใจของการพัฒนางานด้านสุขภาพ คือ “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” ซึ่งจะสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเชื่อมโยงบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่และสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น การหมุนเวียนแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อไปจัดบริการในพื้นที่และเตรียมพร้อมให้คำปรึกษาแนวทางการรักษาผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบบริการ คือ กระบวนการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมของแพทย์เชี่ยวชาญและพยาบาลเฉพาะทาง มีแผนปฏิบัติงานที่ครอบคลุมสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ โดยใช้ความร่วมมือของทุกฝ่ายในจังหวัด เช่น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล
         
     ทางด้านนายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.น่าน กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจ.น่าน ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช และการเตรียมความพร้อมของบุคลากรไว้ดังนี้ 1.พัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยทุกระดับ โดยจัดให้มีบริการคัดกรอง การรักษาและฟื้นฟู โดยให้จิตแพทย์ออกหน่วยบริการตรวจรักษาพร้อมเวชภัณฑ์ยารักษาโรคทางจิตเวช 2.บริหารจัดการข้อมูลต่างๆ ร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจ.น่านและโรงพยาบาล 3.พัฒนาศักยภาพแพทย์จบใหม่เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช 4.พัฒนาบุคลากรที่ให้บริการด้านจิตเวช โดยฝึกอบรมทักษะการดูแลรักษาและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ 1-2 เดือนต่อครั้ง และให้พยาบาลจิตเวชในรพ.ชุมชน สามารถขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์รพ.น่านได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5.พัฒนาเครือข่ายและการส่งต่อในชุมชนจนถึงสถานบริการทุกระดับ โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น สร้างเครือข่ายผู้บกพร่องทางจิตซึ่งใช้ชื่อว่ากลุ่มสายใยดวงใจน่าน 6.ใช้ระบบส่งต่อด้วยระบบสารสนเทศ เช่น โปรแกรมไลน์ อีเมล์ และ 7.สร้างมาตรการป้องกันเฝ้าระวังร่วมกับชุมชน เช่น กำหนดนโยบายการเลิกเหล้า บุหรี่และสิ่งเสพติด

     นายแพทย์ปิยะ กล่าวต่อว่า ผลจากการร่วมมือกันทุกฝ่าย  ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชและญาติ มีความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าถึงสถานบริการมากขึ้น ล่าสุดพบว่า ในปี 2554-2555 ปริมาณครั้งที่ผู้ป่วยมารับบริการที่โรงพยาบาลจังหวัดลดลงกว่าร้อยละ 50 จาก 6,410 ครั้ง ลดลงเหลือ 3,117 ครั้ง  ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงจาก 771 ราย ลดลงเหลือ 367 ราย ส่วนการส่งต่อผู้ป่วยก็ลดลงอย่างชัดเจนจาก 78 ราย เหลือเพียง 28 ราย นอกจากนี้ยังลดการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่รพ.จิตเวชสวนปรุง  จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรพ.แม่ข่ายของภาคเหนือได้อีกด้วย เนื่องจากรพ.ต่างๆ ทุกระดับใน จ.น่าน  มีศักยภาพดูแลรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้น สามารถเข้ารับบริการได้ตั้งแต่ที่รพ.สต. นอกจากนี้ในการบำบัดรักษาผู้เสพยาบ้า พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจและรับการบำบัดจนครบขั้นตอนมากขึ้นด้วย   

******************************* 26 มกราคม 2558

 



   
   


View 11    26/01/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ