“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์คุณภาพเด็กปฐมวัยไทยขณะนี้น่าห่วง 1 ใน 3 มีพัฒนาการไม่สมวัย ส่งผลกระทบเมื่อเข้าสู่วัยเรียนอายุ 3-5 ปี เหตุจากการเลี้ยงดูทั้งที่บ้าน ที่ศูนย์เด็กเล็ก ปล่อยเด็กดูนิทานจากจอทีวีแทนการเล่าสดจากพ่อแม่ ประกาศ 9 คำมั่น ปั้นเด็กไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ให้มีคุณสมบัติ 4 ประการคือ แข็งแรง พัฒนาการดี มีคุณธรรม นำพาประเทศเจริญรุ่งเรือง เชื่อมโยง 3 เสาหลัก คือสถานบริการสุขภาพ 10,527 แห่ง – 24 ล้านครัวเรือน- 20,500 ศูนย์เด็กเล็ก เป็นฐานร่วมพัฒนาต่อเนื่อง
วันนี้(28 มกราคม 2558)ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็กครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ“กลไกการขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบบริการงานอนามัยแม่และเด็ก(MCH Board)” แก่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล นักวิชาการจากทุกจังหวัดรวม 600คน เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กไทย พร้อมประกาศค่ำมั่นการเริ่มต้นพัฒนาเด็กไทย เพื่อให้เด็กไทยใน 20ปีข้างหน้า “แข็งแรง พัฒนาการดี มีคุณธรรม นำพาประเทศเจริญรุ่งเรือง”
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ผลการสำรวจพัฒนาการเด็กอายุ 0 – 5 ปี ในปี 2557 ของกรมอนามัยพบว่ามีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 73 พัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 27 หรือมีประมาณ 1 ล้านกว่าคน เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการชี้ให้เห็นชัดว่าเด็กวัยนี้ มีความสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการด้านสมอง สายตา การควบคุมอารมณ์ ทักษะด้านภาษาและสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพดี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดู พ่อแม่ขาดทักษะการเลี้ยงดู ผู้เลี้ยงดูหลักมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ฝากให้ปู่ย่าตายาย เลี้ยง มักปล่อยให้เด็กดูนิทานจากทีวีมากกว่าการฟังการเล่าสดจากพ่อแม่ การจัดบริการของโรงพยาบาลยังไม่เพียงพอ โดยมีคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็กล่าช้ายังไม่เพียงพอในโรงพยาบาลชุมชนมีเพียง ร้อยละ 67เท่านั้น พี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กขาดความรู้ ทักษะที่จำเป็น อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสุขภาพที่มีผลต่อพัฒนาการเด็ก เช่นขาดออกซิเจนเมื่อแรกเกิดพบร้อยละ 3 น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 8 ติดเชื้อเอช ไอ วี จากแม่มีร้อยละ 6 รวมทั้งอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนยังน้อยเพียงร้อยละ 55 จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่กล่าวมาอย่างเป็นระบบ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำโครงการแม่ลูกสุขภาพดีทุกชีวีมีสุข เพื่อพัฒนาระบบบริการงานอนามัยแม่และเด็กให้เป็นบริการสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรไทย เริ่มตั้งแต่การดูแลครรภ์ จนถึงหลังคลอดถึง 5 ปี เพื่อให้เด็กเจริญเติบโต มีพัฒนาการสมวัย โดยประกาศเจตนารมณ์พัฒนาเด็กไทยใน 20ปีข้างหน้า ให้เป็นผู้ใหญ่ แข็งแรง พัฒนาการดี มีคุณธรรม นำพาประเทศเจริญรุ่งเรือง สร้างศักยภาพการแข่งขันกับสากลได้ จะพัฒนาบริการทั้งหมด 9 เรื่องได้แก่ 1.สร้างพ่อแม่คุณภาพ เข้ารับบริการตรวจสุขภาพก่อนและหลังมีบุตร เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ตามมาตรฐานโรงเรียนพ่อแม่ 2.ให้บริการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ สร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ของหญิงตั้งครรภ์และสามี หญิงหลังคลอด และเด็กปฐมวัย 3.สร้างเด็กปลอดโรคพันธุกรรมและโรคติดเชื้อ คือโรคธาลัสซีเมีย โรคเอดส์ และโรคขาดสารไอโอดีนหรือโรคเอ๋อ โดยตรวจเลือดขณะแม่ตั้งครรภ์ ให้แม่กินยาเสริมไอโอดีนและวิตามินเสริมธาตุเหล็กตามสิทธิประโยชน์ 4.สร้างภูมิต้านทานทางสังคมแก่เด็ก โดยผ่านการเลี้ยงดูของพ่อ แม่ ด้วยความรักและความผูกพัน ได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและอาหารตามวัย
5.สร้างเด็กฉลาดทางปัญญาและอารมณ์ ด้วยการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสมจากพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กหลัก ผ่านกระบวนการกิน กอด เล่น เล่า 6.เด็กทุกคนได้รับการเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการ หากพัฒนาการล่าช้าได้รับการแก้ไข 7.เด็กได้รับการฝึกทักษะชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมในคลินิกเด็กดี และ ศูนย์เด็กเล็ก การฝึกทักษะกิจวัตรประจำวัน การเล่นบทบาทสมมติ การเล่านิทาน ร้องเพลงและดนตรี และวาดรูป 8.สตรีและเด็กได้รับบริการคุณภาพ ฝากครรภ์คุณภาพ ห้องคลอดคุณภาพ คลินิกเด็กดีคุณภาพ และศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ และ9.ชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างเด็กไทยแข็งแรง พัฒนาการดี มีคุณธรรม ด้วยการจัดทำแผนพัฒนาตำบลที่มีประมาณ 6,000แห่ง ให้เป็น “ตำบลพัฒนาการเด็กดีเริ่มที่นมแม่”
ศาตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า ตามประกาศคำมั่นที่กล่าวมาจะเน้นการพัฒนาระบบริการที่โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ 10,527 แห่ง การส่งเสริมครอบครัวกว่า 24 ล้านครัวเรือน สร้างครอบครัวต้นแบบเด็กพัฒนาการดี เริ่มที่นมแม่ และพัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มี 20,500 แห่งให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ถือว่าเป็นการปฏิรูประบบอนามัยแม่และเด็กครั้งใหญ่ของประเทศไทย
ทางด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดสัมมนาวิชาการอนามัยแม่และเด็กครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 28 – 29 มกราคม 2558 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงาน และองค์ความรู้ที่ทันสมัยสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐานและเร่งรัดการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็กเชิงรุกสู่ชุมชน ทั้งนี้เด็กอายุช่วง 3-5 ปีที่มีพัฒนาการล่าช้าหากไม่ได้รับการแก้ไข จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เมื่อเด็กโตขึ้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดทักษะชีวิต ในด้านของการมีมีวินัยต่ำ มีความอดทนต่อปัญหาน้อย รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรมที่มีความสำคัญต่อภาระหน้าที่การงาน
********************** 28 มกราคม 2558