กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ ติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติหรือเออีดี ให้ประชาชนใช้กู้ชีพคนหัวใจวายอย่างทันการณ์ ระหว่างรอทีม 1669 ชี้ แต่ละปีพบคนไทยหัวใจวายสูงกว่าตะวันตก 2 เท่าตัว เฉลี่ยตายชั่วโมงละ 6 คน นำร่องติดตั้งแล้ว 8 พื้นที่แรกในประเทศ อาทิ สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สำนักงาน โรงแรม 5 ดาว โดยจะเร่งอบรมความรู้การช่วยชีวิตและทักษะการใช้เครื่องทุกจังหวัด เพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้สูงถึงร้อยละ 50-70 ไม่เป็นทุกข์เจ้าชายเจ้าหญิงนิทรา ยกระดับการกู้ชีพระบบสาธารณสุขไทย รับมือโรคเอ็นซีดีและสังคมผู้สูงอายุ สร้างความมั่นใจไทยและเทศ
วันนี้ (29 มกราคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และนายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน ร่วมกันแถลงข่าวการติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automate External Defibrillator : AED) ว่า
กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พัฒนาระบบการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่พบบ่อยที่สุดในโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตปีละประมาณ 54,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน สูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ คาดว่าแต่ละปีมีคนไทยหัวใจวาย 60 คนต่อแสนคน โดยผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล อาจเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ ฟรีทุกสิทธิ์ โดยได้นำเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automate External Defibrillator : AED) ซึ่งใช้ในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่นในขณะนี้ ติดตั้งเครื่องนี้ตามที่สาธารณะกว่า 450,000เครื่อง เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย ในชุมชน โบสถ์ ฟิตเนส รวมทั้งมีการจัดเตรียมพร้อม สำหรับการจัดแข่งขัดกีฬานัดสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการแข่งขันวิ่งมาราธอน พบว่าได้ผลดี เพิ่มอัตรารอดชีวิตประชาชนถึงร้อยละ 45 ซึ่งไทยยังไม่เคยมีการติดตั้งเครื่องนี้ในที่สาธารณะมาก่อน
จึงถือว่า เป็นการยกระดับมาตรฐานการกู้ชีพของระบบสาธารณสุขไทย ขยายไปสู่ภาคประชาชนให้สามารถใช้เครื่องนี้ช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้อย่างทันการณ์ ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพ 1669จะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานภายใน 3-5นาที จะช่วยให้รอดชีวิต หรือป้องกันความพิการจากสมองขาดออกซิเจน เป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราได้ โดยที่ผ่านมาพบว่า ประชากรในต่างประเทศเช่นแถบยุโรปและอเมริกา ร้อยละ 40-50 มีความรู้และทักษะในการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้น ส่วนประชาชนไทยยังไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงต้องเร่งพัฒนาความรู้เรื่องนี้และทักษะในการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นและการใช้เครื่องเออีดีให้แพร่หลาย
ขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องเออีดีและจัดการฝึกอบรมในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่องเออีดี สำหรับประชาชน ตามมาตรฐานของคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมโรคหัวใจฯ ในสถานที่ต่างๆ แล้ว 8 ประเภท ได้แก่ 1.สนามบิน ที่เชียงใหม่ และสุวรรณภูมิ 2.แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่พระธาตุดอยสุเทพ และวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว 3.สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 4.สำนักงานราชการ คือโครงการจราจรในพระราชดำริฯ สำนักงานเทศบาลเมืองชุมพร และกระทรวงสาธารณสุข 5.โรงแรม 5 ดาวในกทม.และภูเก็ต 6.บนเครื่องบินสายการบินไทยระหว่างประเทศ 7. แท่นขุดเจาะน้ำมัน ปตท. ในอ่าวไทย จ.ชลบุรี และ8.โรงพยาบาล ที่รพ.รามาธิบดี รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช รพ.กรุงเทพ ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมโรคหัวใจฯ ได้อบรมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
ในการขยายผลอบรมประชาชนทั่วไปทั่วประเทศ ขั้นต่อไปกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคหัวใจฯ จัดทำหลักสูตร อบรมบุคลากรการแพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดที่มี 33 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นครูต้นแบบ ใช้เวลา 2-3 วัน รุ่นละ 40 คน ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ครูต้นแบบไปขยายผลอบรมประชาชนทุกจังหวัดให้ได้มากที่สุด เช่น อสม. ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่แหล่งท่องเที่ยว/ห้างสรรพสินค้า ครูพละ ครูฟิตเนส นักเรียนระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เป็นต้น ให้ได้ครึ่งหนึ่งของประชากรไทยที่มี 64 ล้านคน หรือได้มากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โอกาสรอดชีวิตของคนหัวใจวายจะสูงขึ้น เป็นการวางระบบการรับมือกับโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งขณะนี้คนไทยป่วยแล้วรวมกว่า 10 ล้านคน และรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งจะทำให้การเกิดโรคเอ็นซีดีเพิ่มมากขึ้นด้วย เพิ่มความเชื่อมั่นระบบการแพทย์ฉุกเฉิน แก่คนไทยและชาวต่างชาติ เป็นการหนุนระบบเศรษฐกิจประเทศจากการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ฯ เป็นต้น
ในการติดตั้งเครื่องเออีดี ควรตั้งในจุดที่สามารถมองเห็นได้ง่าย นำมาใช้ได้ภายใน 3-5 นาที และเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง สัญลักษณ์ของเครื่องที่สังเกตได้ง่ายคือ เป็นรูปหัวใจสีแดงและมีสายฟ้าพาดอยู่กลางหัวใจ และมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษ AED อยู่เหนือรูปหัวใจ ในการช่วยฟื้นคืนชีพเมื่อพบผู้หมดสติ ก่อนใช้เครื่องเออีดี มีแนวปฏิบัติดังนี้ 1.ให้ตรวจสอบชีพจร หากพบว่าไม่มีชีพจร ให้โทรแจ้งทีมกู้ชีพ 1669 2.ดำเนินการปั๊มหัวใจ โดยการกดหน้าอกและช่วยหายใจอย่างถูกต้อง และ3.ให้ใช้เครื่อง เออีดี ช่วยกระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นระบบอัตโนมัติมีขั้นตอนการใช้ง่ายและปลอดภัย เครื่องนี้จะสามารถตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ให้คำแนะนำเป็นเสียงผ่านลำโพง และมีสัญญาณไฟกระพริบ ตรงตำแหน่งสวิทช์ที่จะกดช็อก ทำให้การช่วยเหลือประสบผลสำเร็จมากขึ้น ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินรับไปดูแลต่อในโรงพยาบาล ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยให้ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นมีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 50 -70 สูงกว่าการปั๊มหัวใจอย่างเดียวที่มีโอกาสรอดเพียงร้อยละ 3-5
ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาประมาณ 90,000 บาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนามกีฬา สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่ท่องเที่ยว เจ้าของสถานประกอบการต่างๆ เช่น บริษัท โรงงาน โรงแรม ฟิตเนสเซ็นเตอร์ สนามกอล์ฟ อพาร์ตเมนท์ ห้างสรรพสินค้า สายการบิน สามารถสั่งซื้อและติดตั้งได้ตามความต้องการ ขอรับคำปรึกษาได้ที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ โทร 02 718 0060-4 สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02 590 1771 และสายด่วน 1669
******************* 29 มกราคม 2558