กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์อาหารประเทศไทย ทั้งด้านความมั่นคง  ชูเอกลักษณ์โดดเด่นอาหารไทย มีคุณภาพ  ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ  เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารปลอดภัย สุขอนามัยสูง 1 ใน 10 ของโลก เผยไตรมาสแรกปีนี้เร่งเฝ้าระวังผักและผลไม้ทั่วประเทศ 13,000 ตัวอย่าง พัฒนาแหล่งรับซื้อ/แหล่งรวบรวม/แหล่งจำหน่ายผักและผลไม้ ให้มีระบบประกันคุณภาพและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)และพัฒนาสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายในอาหารยอดฮิตบริโภค 6 ชนิด เช่นอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส  ลดโรคเรื้อรัง   คาดประกาศใช้ช่วงกลางปีนี้  

     ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนไทย อายุยืน มีสุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีร่างกายสมบูรณ์ได้ ก็คือ การได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดภัยจากสารอันตรายหรือเชื้อโรคปนเปื้อน และมีบริโภคอย่างยั่งยืน  จึงได้เร่งการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย พ.ศ.2555-2559  เพื่อสร้างความเข้มแข็งการจัดการอาหารอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 แล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นคงและความยั่งยืนด้านอาหารในประเทศ และเพื่อส่งเสริมการส่งออกตลาดโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ

     ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์อาหารฯมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ด้านความมั่นคงทางอาหาร  ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร  ด้านอาหารศึกษา และด้านการบริหารจัดการ  ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน  เพื่อดูแลอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงมือผู้บริโภค  นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสถาบันอาหาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดย สวทน. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลกเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกอาหารและการบริการด้านอาหารที่มีความปลอดภัยและสุขอนามัยสูง อันดับ 1 ใน 10 ของโลก มีคุณภาพมาตรฐานอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืนของประเทศ และสร้างรายได้เข้าประเทศ  โดยในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติชุดใหม่แทนชุดเก่าที่หมดวาระลง ให้คณะรัฐมนตรีคัดเลือกและแต่งตั้งเพื่อให้สามารถจัดประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด                             

     สำหรับการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558  นี้ ได้เน้นการขับเคลื่อนผักและผลไม้ปลอดภัย ณ แหล่งรับซื้อ/แหล่งรวบรวม/แหล่งจำหน่าย ซึ่งเป็นจุดคานงัดในการขับเคลื่อน เพื่อผลักดันให้เกิดระบบและกลไกการจัดการความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ การสร้างองค์ความรู้ทางโภชนาการแก่ประชาชนในทุกช่วงวัย การบริหารจัดการด้านการเกษตร อาหาร โภชนาการ และสุขภาพในโรงเรียน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดี เหมาะสมตามวัยของนักเรียน การพัฒนาและส่งเสริมสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายและเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างเหมาะสม  ไม่เป็นผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน  จากการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม เป็นต้น     

     ทางด้านนายแพทย์บุญชัย  สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า  ในการดำเนินงานช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2558 นี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้มีการดำเนินงานศึกษาระบบการบริหารจัดการความปลอดภัยผักและผลไม้ ณ แหล่งรับซื้อ/แหล่งรวบรวม/แหล่งจำหน่าย ได้แก่  (1) ตลาดค้าส่ง 5 แห่ง  คือ ตลาดไท ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดวงษ์ทอง ตลาดศรีเมือง และตลาดสี่มุมเมือง (2) แหล่งรับซื้อห้างค้าปลีก 5 แห่ง ได้แก่ แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ และ ท๊อปส์ (3)แหล่งรับซื้อชุมชน อำเภอบ้านดอนพุด จังหวัดสระบุรี และ (4) ต้นแบบมูลนิธิโครงการหลวง และได้ จัดทำแผนเฝ้าระวังผัก และผลไม้ทั่วประเทศ  จำนวน 13,000  ตัวอย่าง  โดยใช้ชุดทดสอบตรวจ  โดยเก็บตัวอย่างผักจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา ถั่วฝักยาว พริกแดง กะหล่ำปลี และผักพื้นบ้าน เพื่อวิเคราะห์การตกค้างยาฆ่าแมลง  ซึ่งจะเก็บตัวอย่างจาก แหล่งรับซื้อ/แหล่งรวบรวม/แหล่งจำหน่าย ผักและผลไม้  นอกจากนั้นได้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “คืนความสุขคนไทย ส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้”เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ในการเลือกซื้อส้มทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ณ แหล่งจำหน่ายห้างค้าปลีก เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และเป็นต้นแบบการบูรณาการการขับเคลื่อนผักและผลไม้ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้างค้าปลีก นักวิชาการ และประชาชน
 
     นอกจากนี้ ได้สนองแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ประยุกต์คู่มือการเรียนการสอนนักเรียน ในด้านเกษตร  อาหาร  โภชนาการ และสุขภาพ  อย่างครบวงจร เพื่อเป็นโครงการศึกษาต้นแบบสอน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 35  แห่ง  และจัดทำเอกสารวิชาการองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่จำเป็นในทุกช่วงวัยของวงจรชีวิตมนุษย์  เพื่อให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการบริโภคถูกต้องเหมาะสม  อีกทั้งได้เตรียมพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายบนฉลากของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกซื้อเลือกบริโภค  โดยคัดเลือกกลุ่มอาหารที่เป็นที่นิยมในท้องตลาด  6 ชนิด ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม นม  ขนมกรุบกรอบ และเครื่องปรุงรสปริมาณเกลือต่ำ โดยใช้สารอาหารที่เกิดผลดีต่อสุขภาพร่างกาย   8 ชนิด  ได้แก่ โปรตีน ไขมันทั้งหมด กรดไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด  โซเดียม แคลเซียม และเหล็ก มากำหนดเกณฑ์การพัฒนาสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย  เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงการปรับสูตรอาหาร ลดความหวาน มัน เค็ม  เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาล คาดว่าสัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายที่กล่าวมาจะประกาศใช้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 3  คือประมาณกลางปี 2558

 *********************   1 กุมภาพันธ์ 2558
 



   
   


View 18    01/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ