“รัชตะ” เปิดเวทีระดับประเทศ ฟังความเห็น “หลักประกันสุขภาพ” ทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ   ชี้  ต้องใช้กลไกการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้  ส่วนการขึ้นทะเบียนบัตรทอง สธ.ยินดีทำหน้าที่ต่อจนกว่า สปสช.พร้อมดำเนินการ ไม่ให้กระทบประชาชน
             วันนี้(2 กุมภาพันธ์ 2558) ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม.  ศาสตราจารย์นายแพทย์ รัชตะ  รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและ ผู้รับบริการ นัดพิเศษประจำปี 2558 ตามมาตร 18 (13) ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้จัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการภาครัฐทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน และผู้รับบริการ เป็นประจำทุกปี   จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 44-45  หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 46 และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  โดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน 

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า  ประเทศไทยได้สร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทยทุกคนมาเป็นเวลา 12 ปี  ประชาชนได้รับประโยชน์จากการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ไม่ประสบภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย  เป็นที่ยอมรับและชื่นชมระดับโลก   ถึงแม้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง  แต่สามารถจัดสรร ระบบการรักษาที่ดีแก่ประชาชนได้   จึงต้องช่วยกันรักษาให้ระบบยั่งยืน ที่ผ่านมามีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  มีองค์ประกอบหลายด้านที่ทำให้ระบบเข้มแข็งมั่นคง  ไม่ใช่มีแค่ระบบการจัดสรรงบประมาณ  แต่มีองค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น  การพัฒนาระบบบริการ การจัดสรรกำลังคน การกระจายที่เหมาะสม เป็นต้น และที่สำคัญคือการอภิบาลระบบ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า  ในการปรับประเด็นต่างๆ ได้ใช้เวลาคุยกันมามาก  เช่น กลไกการเงิน การคลัง มีหลายองค์ประกอบ อาทิเช่น การตัดเงินเดือน กองทุนรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง งบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน งบค่าเสื่อม  ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ซื้อบริการ   สำหรับเรื่องข้อมูล เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ  ความเห็นที่ต่างกัน  เพราะมองกันคนละมุม ต้องเอาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ  ต้องพยายามนำข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนมาพูดคุยกัน  ซึ่งการปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับข้อมูลเชิงประจักษ์จริง  จึงอยากให้ สธ.กับสปสช.หารือกันเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ต้องวิเคราะห์เพื่อหาความชัดเจนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
 โดย ในเรื่องข้อมูล  บอร์ดได้มีมติตั้ง อ.อัมมาร  สยามวาลา เป็นประธานชุดข้อมูล  มีเลขาสปสช.และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบดำเนินการร่วมกัน  ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะว่า กำลังใช้กลไกแก้ปัญหาอย่างมี ส่วนร่วม  เช่น กลไกการเงิน การคลัง การรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ ในการจัดทำงบขาขึ้นในปีงบประมาณ 2559  สธ.และสปสช.ได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการใช้กลไกการมีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้น  โดยเชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน  คิดว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้ ไม่ควรมีการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเคลื่อนไหวในสิ่งที่ไม่มีข้อยุติ จะสร้างให้เกิดปัญหามากกว่า                                                   
          ส่วนกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่เป็นนายทะเบียนขึ้นทะเบียนบัตรทองนั้น  และการที่กระทรวงสาธารณสุขตีความว่า การทำบัตรทองไม่ใช่หน้าที่หน่วยบริการนั้น คิดว่าต้องพูดคุยกันระหว่าง สธ.และสปสช.ว่าจะทำยังไง  เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องคุยกันเพราะเด็กแรกเกิดต้องขึ้นทะเบียนที่หน่วยบริการ
ด้านนายแพทย์วินัย  สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า   ขณะนี้กำลังทำข้อเสนอทางเลือกให้บอร์ด สปสช. เนื่องจากมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 8  แสนคน มีคนเปลี่ยนสิทธิ์ปีละ 4 ล้านกว่าคน มีประกันสังคมอีกส่วนหนึ่งที่ผ่านมา 10กว่าปี หน่วยบริการสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนในเรื่องการขึ้นทะเบียนบัตรทอง  หากมีการปรับเปลี่ยนก็จะเตรียมหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบประชาชน       
ด้านนายแพทย์สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป พร้อมด้วยนายแพทย์สุรพร ลอยหา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและคณะ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากมติบอร์ด สปสช.ที่ยกเลิกให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็น สปสช.สาขาจังหวัด  ดังนั้นการทำหน้าที่นายทะเบียนก็ต้องให้สปสช.เขตเป็นผู้รับผิดชอบ  ซึ่งการทำหน้าที่นายทะเบียนบัตรทองนั้น ตามภารกิจแล้วเป็นหน้าที่ของ สปสช.ในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการแทนประชาชนอยู่แล้ว  โดย 12 ปีที่ผ่านมานั้น กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแทน  เพื่อประโยชน์ประชาชน  และขณะนี้ประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมดมีหลักประกันสุขภาพแล้ว  จะมีเพียงเด็กเกิดใหม่ หรือผู้เปลี่ยนแปลงสิทธิ์ ที่มีจำนวนไม่มากนัก และ สปสช.ไม่น่าจะมีปัญหาในการขึ้นทะเบียนเอง อย่างไรก็ตาม หาก สปสช.ยังไม่พร้อมกระทรวงสาธารณสุขก็ยินดีที่จะดำเนินการให้จนกว่าจะพร้อม       
*********************************** 2 กุมภาพันธ์ 2558

 



   
   


View 12    04/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ