สาธารณสุข เผยขณะนี้โรคมะเร็งรุนแรงขึ้น คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ปีละกว่า 67,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน อัตราตายสูงสุดที่พะเยา แพร่ ลำปาง รวมสร้างความสูญเสียเศรษฐกิจไทยปีละเกือบ 80,000 ล้านบาท ย้ำเตือน 5 กลุ่มเสี่ยงโรคนี้สูง ได้แก่ คนอ้วน คอทองแดง สิงห์อมควัน คนที่เมินกินผักผลไม้สดและไม่ออกกำลังกาย กระทรวงสาธารณสุขเร่งกระจายศูนย์เชี่ยวชาญรักษามะเร็งทั่วประเทศ เอื้อประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง และส่งทีมดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังถึงบ้าน และเน้นรณรงค์ประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไปตรวจสุขภาพทุกปี ย้ำหากพบตั้งแต่เริ่มแรก โอกาสรักษาหายมีสูง 

          
     นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 4 กุมภาพันธ์ทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลก รณรงค์ให้รู้ความเข้าใจประชาชนและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคมะเร็ง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตประชาชนวัยแรงงาน และผู้สูงอายุมากที่สุด องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกปีละประมาณ 14ล้านคน เสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอดจำนวน 1.59 ล้านคน  แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ  สำหรับประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2543  เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2556 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิด 67,184 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละ 426,065 คน เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คน จังหวัดที่มีอัตราตายสูงที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทุก 1 แสนคน อันดับ 1 ได้แก่ พะเยา แสนละ 157 คน อันดับ 2  แพร่ แสนละ 149 คน  อันดับ 3 ลำปางแสนละ 146 คน อันดับ 4 จันทบุรี แสนละ 144  คน อันดับ 5 ร้อยเอ็ดแสนละ 143 คน     
 
     นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า การป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ ข้อมูลในปี 2552 พบก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่นจากการรักษา การขาดงานผู้ป่วยและผู้ดูแล ค่าเดินทาง รวมเกือบ 80,000 ล้านบาท ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็งประจำเขตสุขภาพแล้ว 13 แห่งใน 13 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก ลพบุรี ราชบุรี ปทุมธานี ชลบุรี ร้อยเอ็ด อุดรธานี นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา แต่ละแห่งดูแลประชาชน 5-8 จังหวัด เฉลี่ยประมาณ  5  ล้านคน  ในปี 2558 ได้จัดงบลงทุน 113 ล้านบาทเศษ เช่น ซื้อเครื่องสลายเนื้องอกในสมอง ประจำที่ศูนย์เชี่ยวชาญ จ.ร้อยเอ็ดและอุบลราชธานี เป็นต้น ขณะนี้ยังขาดเพียงเขตสุขภาพที่ 3 คือ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี กำแพงเพชร และชัยนาท อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ คาดจะเสร็จในอีก 2 ปี ทุกเขตสุขภาพสามารถผ่าตัดมะเร็ง รักษาด้วยเคมีบำบัดและรักษาด้วยรังสี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมะเร็งเร็วขึ้น ได้รับการรักษาใกล้บ้านขึ้น เช่นได้รับการผ่าตัดใน 4 สัปดาห์ ได้รับยาเคมีบำบัดใน 6 สัปดาห์ เป็นต้น 
 
     ทางด้านนายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายบริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต  ซึ่งส่วนใหญ่จะดูแลที่บ้าน โดยมีทีมหมอครอบครัวจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และอสม.ออกไปให้การดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานผู้ป่วย                   
     ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคมะเร็งได้สูงกว่าคนอื่นๆ มี 5  กลุ่มได้แก่ คนอ้วน ผู้ที่ดื่มสุรา  สูบบุหรี่ ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย และผู้ที่ไม่กินผักผลไม้สด โดยโรคมะเร็งจะค่อยๆก่อตัว ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัว จึงขอให้ผู้ที่มีความเสี่ยงนี้ เร่งแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ให้เพิ่มการออกกำลังกายได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน ลดหรืองดการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และเพิ่มการกินผักผลไม้สดให้ได้ครึ่งหนึ่งของมื้ออาหารทุกมื้อ เนื่องจากผักผลไม้มีสารต้านมะเร็งเช่นวิตามินเอ สารเบต้าแคโรทีน และมีเส้นใยอาหาร ทำหน้าที่คล้ายแปรงไปกระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้สร้างเมือกมากขึ้น ทำให้ระบบขับถ่ายดี และให้ทุกจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไปตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 30 ปี รณรงค์ตรวจหามะเร็งปากมดลูกให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ตรวจมะเร็งเต้านมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 หากพบความผิดปกติจะได้รับการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติสูงมากหากเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อื่น ส่วนในบางพื้นที่ เช่นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูง จะตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ หากพบจะให้ยาฆ่าพยาธิและปรับพฤติกรรมเลิกกินปลาน้ำจืดดิบๆสุกๆ ด้วย 
        
     ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสังเกตสัญญาณผิดปกติ สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งมี 7 ประการ ได้แก่ 1.มีเลือดออกหรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่นตกขาวมากเกินไป 2.มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็ว 3.มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก 4.ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม 5.เสียงแหบหรือไอเรื้อรัง 6.กลืนอาหารลำบากหรือทานอาหารแล้วไม่ย่อย และ7.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ หากมีอาการเหล่านี้ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว นายแพทย์วชิระกล่าว
 
  ****************************3 กุมภาพันธ์ 2558
 


   
   


View 10    03/02/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ