รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันการผลิตแพทย์ พยาบาลแนวใหม่ แก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังคนอย่างยั่งยืน ปลูกฝังทัศนคติแพทย์อยู่บ้านเกิด เป็นทั้งผู้ให้การรักษาและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม ส่วนพยาบาลเน้นการเป็นพยาบาลประจำหมู่บ้าน คัดเลือกเด็กดีในพื้นที่ที่เรียนได้ให้เข้าเรียน ท้องถิ่นร่วมจัดทุนการศึกษา และทำงานในบ้านเกิดหลังจบ ขณะนี้เห็นผลสำเร็จแล้วที่อ.น้ำพอง และอ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2558) ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลน้ำพอง โรงพยาบาลอุบลรัตน์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหากำลังคนทางสุขภาพของจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็นกำลังหลักที่จำเป็นในการจัดบริการสุขภาพ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนประสบปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกลมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัญหาการกระจายแพทย์ที่ไม่สมดุลในเขตเมืองและชนบท แพทย์ในชนบทมีอัตราการย้ายหรือลาออกมาก โดยในจังหวัดขอนแก่นมีแพทย์ทั้งหมด 3,700 คน ดูแลประชากร 1 ล้าน7 แสนกว่าคน ทำให้โรงพยาบาลขอนแก่นและเครือข่ายร่วมกันสร้างแนวคิดใหม่ในการผลิตแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกที่ชุมชนมีส่วนร่วม และการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมกับการทำงานในชนบท และการดูแลเกื้อหนุนเมื่อจบเป็นแพทย์แล้ว
ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนแพทย์ในโครงการฯ จะมีขั้นตอนที่เน้นผู้มีโอกาสน้อยให้เข้าเรียน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการคัดเลือกลูกหลานในชุมชนเข้าเรียนแพทย์ สร้างทัศนคติเชื่อมโยงกับชุมชน สิ่งนี้จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกแพทย์ในพื้นที่ สร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษาแพทย์กับชุมชน เมื่อเรียนจบกลับมาเป็นแพทย์แล้ว แพทย์จะรู้สึกว่าเขามาจากชุมชน และจะต้องกลับไปทำงานเพื่อชุมชน อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ชุมชนมีบทบาทเพิ่มเติมในการเตรียมสร้างนักเรียนที่มีศักยภาพของแต่ละชุมชมให้มีความตั้งใจที่อยากจะเรียนแพทย์มากขึ้น และประการสำคัญ การผลิตแพทย์ในอนาคต ไม่ใช่เรียนแค่รักษาคนป่วย แต่ต้องปลูกฝังค่านิยมทัศนคติ ฝึกให้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วย โดยเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ
สำหรับเรื่องพยาบาล ที่ผ่านมาโรงพยาบาลน้ำพอง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง แต่บริการจริง 90-120 เตียง มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 543 คน ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 98 คน ประชาชนเจ็บป่วยกันมาก พยาบาลมีจำนวนไม่เพียงพอ อัตราพยาบาล 1 คนต่อประชากร 1,000-2,000 คน โรงพยาบาลฯ จึงร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิอ.น้ำพอง มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.ขอนแก่น และวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย จัดโครงการผลิตพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชน ของชุมชน และโดยชุมชน เป็นพยาบาลประจำหมู่บ้าน ให้ชุมชนร่วมคัดเลือกเยาวชนในหมู่บ้าน เน้นเป็นเด็กดี เรียนได้ มากกว่าเด็กเก่งเรียนดี เพื่อเข้าเรียนพยาบาล โดยองค์กรส่วนท้องถิ่นสนับสนุนทุนการศึกษาคนละ 30,000-50,000 บาทต่อคนต่อปี เรียน 4 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2558 จำนวน 200 คน ขณะนี้จบทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่อ.น้ำพองแล้ว 75 คน โดยอัตราพยาบาลต่อประชากรลดลงเหลือ 1 : 600-800 คนและมีอัตราการคงอยู่ในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น นับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เป็นนวตกรรมการจัดการศึกษาต้นแบบ ที่แก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความจำเป็นในระบบได้เป็นผลสำเร็จ ขณะนี้ขยายในหลายอำเภอของจังหวัดขอนแก่น เช่นที่ อ.อุบลรัตน์ เป็นต้น โดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขยายผลในพื้นที่อื่นๆและกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ด้วย
ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กุญแจสำคัญในการสร้างบุคลากรสาธารณสุขที่ดี ที่ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง คือ ตัวอาจารย์ผู้สอน ที่ต้องมีความเสียสละและมีจิตใจที่ทุ่มเทในการทำงาน ทั้งสอนนักศึกษาและรักษาผู้ป่วยไปพร้อมกัน ดังที่นายแพทย์สุรชัย สราญฤทธิชัย ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ศาสตรศึกษาโรงพยาบาลขอนแก่น ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า “เราในฐานะอาจารย์แพทย์ ต้องสร้างหมอและพยาบาลที่เป็นคนดี ที่รู้จักให้ และสร้างสำนึกในการทำงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน”
นอกจากนี้ นายแพทย์สมศักดิ์ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบที่ทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีความสุขในการทำงาน มีความก้าวหน้า มีระบบพี่เลี้ยง เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทำงานแบบพี่สู่น้อง และมีระบบการศึกษาต่อที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยเน้นสาขาที่เหมาะสมต่อการทำงานในชนบท เช่นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน รวมทั้งให้บุคลากรเหล่านี้มีความรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้ทำงานอยู่ใกล้บ้าน มีความคุ้นเคยทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรัก ความศรัทธาที่จะอุทิศตนทำงานให้ประชาชนในพื้นที่ที่ขาดโอกาสเข้าถึงด้วย
************************************* 7 กุมภาพันธ์ 2558