“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยคณะอนุกรรมการเอดส์ชาติมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ไทยได้เริ่มประเทศเดียวและหนึ่งเดียวในโลก ชี้ให้ผลเกินคุ้มป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเอดส์ และการตั้งครรภ์ ชี้รอบ 10 ปี วัยรุ่นติดกามโรคสูงขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว เหตุใช้ถุงยางเพียงร้อยละ 43 และเลือกไซส์ที่ใหญ่เกินขนาดของจริงเพราะกลัวจะถูกหยามว่าเล็ก ส่วนผลโพลล์การใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคช่วงวันวาเลนไทน์ พบทัศนคติการพกถุงยางของคนไทยดีขึ้น มองว่าเป็นคนพร้อม มั่นใจ ทันสมัย พร้อมทั้งหนุนครอบครัวสอนวิธีการใช้ การพกถุงยางอนามัยเด็กม.ต้น โดยปีนี้สธ.ทุ่มงบ 47 ล้านบาทซื้อถุงยางแจกฟรี 43 ล้านชิ้น ขณะที่ยอดความต้องการประเทศสูงถึง 270 ล้านชิ้นต่อปี
วันนี้ (12 ก.พ. 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ เนื่องในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2558 และผลสำรวจ 10 ความคิดเห็นประชาชนต่อการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องมาจากการใช้ถุงยางอนามัยลดลง ผลการประชุมคณะอนุกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันโรคและแก้ไขปัญหาเอดส์ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ (National Condom Strategy) พ.ศ.2558-2562 เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวและเป็นแห่งแรกในโลกที่มียุทธศาสตร์นี้ในระดับชาติ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั้งหญิงและชายให้มีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถุงยางอนามัยว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อสุขภาวะทางเพศที่ใช้ในชีวิตปกติทั่วไป
ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2557 พบว่า อัตราการป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคหนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 35.89 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2552 เพิ่มเป็น 52.69 ต่อแสนประชากร ในปี 2557 และที่น่าตกใจพบว่าในรอบ 10 ปีตั้งแต่ปี 2548-2557 วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ติดกามโรคเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เกือบ 5 เท่าตัว จาก 7.53 เป็น 34.50 ต่อประชากรแสน ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเช่นกัน จาก 26.66 เป็น 42.73 ต่อประชากรแสน คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 2 กลุ่มอายุนี้ รวม 21,137 คน เหตุเนื่องจากใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง ผลสำรวจในปี 2556 วัยรุ่นชายใช้เพียงร้อยละ 36.2 วัยรุ่นหญิงใช้ร้อยละ 27.9 ขณะที่ในปี 2553 ผู้ชายใช้ร้อยละ 43.3 ผู้หญิงใช้ร้อยละ 30.7
ส่วนโรคเอดส์จากการคาดการณ์การระบาดในปี 2557 พบผู้ป่วยเอดส์ที่เป็นผู้ใหญ่สะสมประมาณ 1,194,515 คน ยังมีชีวิตอยู่ 438,629 คน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,695 คน ร้อยละ 90 เกิดจากการรับและถ่ายทอดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญในป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ลงทุนน้อยแต่ให้ผลที่คุ้มค่ามาก สามารถป้องกันโรคและปัญหาที่เกิดตามมาหลังการมีเพศสัมพันธ์ อาทิการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ความเสี่ยงในการเกิดโรคหนองใน หนองในเทียม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนักในกลุ่มชายรักชาย เป็นต้น
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันวาเลนไทน์ปีนี้ กรมควบคุมโรคอยากให้ประชาชนใช้วันนี้มอบความรักให้กันอย่างสร้างสรรค์ ไม่ลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์ เป็นรักที่ยั่งยืนและบริสุทธิ์ ได้สำรวจความคิดเห็นต่อการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อควบคุมป้องกันโรคปี 2558 ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปจาก 22 จังหวัด จำนวน 3,050 คน ครอบคลุมทุกภาค โดยเก็บข้อมูลในแหล่งชุมชน รอบตลาด /ห้างสรรพสินค้า หมู่บ้านนอกเขตเทศบาลและสถานที่ราชการ ในช่วงวันที่ 11-13 มกราคม 2558 ผลการสำรวจใน 10 ประเด็น พบว่า ประชาชนมีความรู้ในการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร้อยละ 76.8 ลดลงจากปี 2557 ที่มีร้อยละ 86.2 และมีทัศนคติต่อผู้หญิงและผู้ชายวัยทำงานที่พกถุงยางติดตัวว่า มีความพร้อม ทันสมัย และมั่นใจร้อยละ 44.2 เพิ่มจากปี 2557 เกือบ 2 เท่าตัว
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 56.9 และใช้บางครั้งร้อยละ 35.7 ไม่ใช้เลย 7.3 ส่วนด้านการป้องกันพบว่า ร้อยละ 60 เห็นด้วยกับการตั้งตู้ถุงยางอนามัยฟรีในห้องน้ำนักเรียนม.ต้นขึ้นไป แต่ร้อยละ 55.4 เห็นว่าการแจกถุงยางอนามัยกับเด็กนักเรียนม.ต้นในช่วงวันวาเลนไทน์จะกระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ตามร้อยละ 66.7 เห็นว่าการแจกถุงยางอนามัยในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเลือกซื้อถุงยางอนามัยจากร้านสะดวกซื้อมากเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 66.5 จากห้างสรรพสินค้าร้อยละ 49.7 และจากร้านขายยาร้อยละ 43.5 และพบว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่ร้อยละ 43.6 รู้สึกเขินอายต่อการเลือกซื้อถุงยางอนามัยในร้านสะดวกซื้อและร้ายขายยา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีร้อยละ 41.2 อย่างไรก็ตามร้อยละ 68.2 เห็นว่าผู้ปกครองหรือบุคคลในครอบครัวควรสอนให้บุตรหลานตั้งแต่วัยม.ต้นรู้จักวิธีการใช้และพกถุงยางอนามัย ซึ่งลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 72.7
โดยในปีงบประมาณ 2558 กรมควบคุมโรคได้จัดงบประมาณ 47 ล้านบาท ซื้อถุงยางอนามัยขนาดที่เหมาะสมกับคนไทยจำนวน 43 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นขนาด 52 มิลลิเมตร ซึ่งใช้มากที่สุด แจกฟรีแก่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการสูงถึงเกือบ 270 ล้านชิ้นต่อปี และในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้ กรมควบคุมโรคร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จัดกิจกรรมวาเลนไทน์ภายใต้แนวคิด“Sex รอบคอบ ตอบ OK” มุ่งหวังปรับความเชื่อ ทัศนคติ และสร้างความตระหนักในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โดยรู้จักวิธีปฏิเสธและต่อรองหากไม่พร้อมมีเพศสัมพันธ์ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ทุกช่องทางและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่ายขึ้นทั้งในชุมชน/สถานที่ที่มีความพร้อมในการติดตั้งเครื่องจำหน่ายถุงยางอนามัยและสนับสนุนแพ็คเกจถุงยางอนามัย และเอกสารความรู้ ให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายระดับเขตและจังหวัดทั่วประเทศ และในส่วนกลางจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันถุงยางอนามัยแห่งชาติ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2588 ตั้งแต่เวลา 15.00 – 21.00 น. ณ อเวนิว เมเจอร์รัชโยธิน และได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องเพศศึกษา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมแก่ประชาชนทางเว็บไซต์ aidssti.ddc.moph.go.th
นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นที่น่าห่วงของวัยรุ่นขณะนี้คือ การเลือกถุงยางอนามัยขนาดที่ไม่เหมาะสม มักจะเลือกขนาดใหญ่กว่าตนเอง เพราะมีทัศนคติกลัวถูกเหยียดหยามจากเพื่อนว่าขนาดอวัยวะเพศเล็ก ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นชาย เกิดปัญหาถุงยางอนามัยหลุด หลวมมีความเสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเลือกปฏิบัติได้ 4 แนวทาง คือ 1.การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่มีภาวะติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 2.การดูแลคือ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคนและทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ ควรพกถุงยางอนามัยไว้เสมอ เพราะอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ 3.การหลีกเลี่ยงคือ เลี่ยงสถานการณ์หรือโอกาสเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยเช่นไม่อยู่สองต่อสอง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เสพยาเสพติด ไม่ดูสื่อลามก และ4.ไปพบแพทย์ เมื่อผู้ชายมีอาการปัสสาวะแสบขัดหรือมีหนองไหลออกมา เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีตุ่ม ผื่น แผล ฝี บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบบวมหรือเป็นฝี ส่วนผู้หญิงมีอาการตกขาวผิดปกติหรือมีสีเหลือง กลิ่นเหม็น เจ็บ เสียวท้องน้อย มีผื่น ตุ่ม แผล ฝี ที่อวัยวะเพศ ขาหนีบบวมหรือเป็นฝี เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง รวมถึงการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชนอย่างครบวงจร ครอบคลุม 43 จังหวัด
************* 12 กุมภาพันธ์ 2558