“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประชุมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพประชาชนที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร วางระบบการดูแลรักษาพยาบาล การเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพคน อาหาร และน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ฟันธงต้นเหตุปัญหา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเกิดความเชื่อมั่น พร้อมทบทวนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวข้อง 3 ฉบับคือพ.ร.บ.แร่พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 และตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญวิชาการจากส่วนกลาง ร่วมทำงานกับพื้นที่ 3 จังหวัด
วันนี้ ( 18 กุมภาพันธ์ 2558 ) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสุขภาพจากผลกระทบการทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร ว่า ได้รับรายงานข้อมูลด้านผลกระทบสุขภาพ ซึ่งเป็นผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบว่าขณะนี้มีกลุ่มประชาชนที่อยู่รอบๆเหมืองแร่แห่งนี้ ซึ่งตั้งในพื้นที่เชื่อมต่อ 3 จังหวัดคือพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก จัดว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากพบมีสารโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะคือ แมงกานีส สารหนู สูงผิดปกติจำนวน 401 คน จากผลการตรวจทั้งหมด 700 กว่าคน มากที่สุดที่ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จำนวน 196 คน เป็นผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่รอบเหมือง ซึ่งมีพื้นที่เหมืองขนาดประมาณ 3000 กว่าไร่ จากการประเมินพบว่ามีประชาชนอาศัยอยู่รอบๆเหมืองอีกประมาณ 6,000 คน ซึ่งมีโอกาสอาจจะได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนักได้ ทั้งทางตรงและผ่านทางสิ่งแวดล้อมคือปนเปื้อนในแหล่งน้ำ อาหาร ได้
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ในการจัดระบบการดูแลประชาชนรอบเหมืองทองคำ ได้วางไว้ 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน เน้นหนัก 2 เรื่อง คือการรักษาประชาชน ได้จัดคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาจเกิดมาจากการสัมผัสโลหะหนัก ที่โรงพยาบาลทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด โดยจัดผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรคและผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี มาให้การดูแลเป็นการเฉพาะ และมีศูนย์รับส่งต่อที่โรงพยาบาลพิจิตร ส่วนเรื่องที่ 2 คือการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพ เพื่อหาสาเหตุที่จริงของการมีโลหะหนักในเลือด โดยจะทำการตรวจคัดกรองสุขภาพ เริ่มจากกลุ่มประชาชนกลุ่ม 401 คน ที่พบผลเลือดผิดปกติก่อน จะมีการซักประวัติ เจาะเลือด พฤติกรรมประจำวัน ซึ่งจะมีการประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้ง3 จังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมการทำงานพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ที่จ.พิจิตร จากนั้นจะวิเคราะห์ผล คาดว่าจะเสร็จกลางเดือนมีนาคม 2558 จากนั้นจะดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มประชาชนที่เหลืออีก 6,000 คน ด้วย
ส่วนในระยะยาวได้วางระบบการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือแหล่งน้ำกินน้ำใช้ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรรอบเหมืองแร่ ทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ1 ปี ในเบื้องต้นวางกรอบเวลา 3 ปี โดยจะจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม 1 ชุด เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ร่วมกันทั้ง 3 จังหวัด ขณะนี้ได้วางกรอบการทำงานไว้แล้ว ทั้งนี้ในการทำงานครั้งนี้จะทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือพ.ร.บ.แร่พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ด้วย เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และร่วมแก้ไขปัญหาด้วยกัน
******************************************************* 18 กุมภาพันธ์ 2558